รายงาน
เมื่อทั่วโลกนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อรับมือ COVID-19
14 เม.ย. 2563

หลังจากที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) อย่างเป็นทางการจากระดับ “โรคระบาด” (Epidemic) สู่การเป็น “โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก” (Pandemic) แต่ละประเทศทั่วโลกต่างมีวิธีการรับมือการแพร่ระบาดที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดีในสถานการณ์เช่นนี้เราไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะเครื่องมือในการช่วยลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เลยวิกฤติการณ์ดังกล่าวได้สร้างความท้าทายต่อมนุษยชาติในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัด จากผลกระทบของ COVID-19 เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยี Robotics ไม่ได้มีไว้เพื่อจัดแสดงในงาน Tech Show เท่านั้น เทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ Big Data ไม่ได้ฟังดูเป็นเรื่องของอนาคตอีกต่อไป เป็นต้น ปรากฎการณ์เหล่านี้สามารถบอกเป็นนัยยะสำคัญได้ว่า COVID-19 เป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาเร่งให้ “คน” และ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

 

COVID-19 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก โดยธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้เองที่เป็นโรคติดต่ออันตรายส่งผลให้การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เทคโนโลยี Autonomous Vehicle, Drones และ Robotics มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้จากกรณีศึกษาในประเทศจีนที่ใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยแพทย์และพยาบาลในการนำอาหารและยาไปส่งให้คนไข้ในโรงพยาบาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคและลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์อย่างสิ้นเปลืองในช่วงวิกฤติการณ์ นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ต้อนรับในอาคารสำนักงานต่างๆ ในการช่วยวัดอุณหภูมิร่างกายและแจกจ่ายแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ และแน่นอนว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ยังสามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิร่างกายเพื่อนำไปรวบรวมใน Big Data ของรัฐบาลได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดอันนำไปสู่การเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยี Drones ก็ถูกนำมาใช้ในลักษณะคล้ายคลึงกับหุ่นยนต์เช่นกัน ในกรณีที่ต้องนำส่งเสบียง ยารักษาโรค รวมทั้งการวัดอุณหภูมิร่างกายให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดีปัญหาที่สืบเนื่องมากจากการระบาดของ COVID-19 ที่มักจะถูกมองข้าม เช่น การที่ผู้เข้าใช้บริการในอาคารสำนักงานต่างๆ จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยออกเมื่อต้องถ่ายรูปเพื่อแลกบัตรเข้าอาคาร ทาง Sensetime บริษัทด้าน Automatic Crowd Surveillance ของฮ่องกงก็สามารถรับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เข้าใช้บริการไม่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยออกอีกต่อไป เทคโนโลยีนี้กำลังเป็นที่นิยมมากทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเอง เพราะนอกจากจะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้แล้ว ยังสามารถคงไว้ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่ดีเพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่จะฉวยโอกาสก่ออาชญากรรมในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอำพรางใบหน้า

               

นอกจากกรณีศึกษาจากประเทศจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือกับ COVID-19 ที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น ไต้หวันที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในเชิงรุก ในลักษณะการนำข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรจากฐานข้อมูลประกันสุขภาพแห่งชาติ ประวัติการเดินทาง มาวิเคราะห์และหากพบว่าบุคคลใดตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะนำตัวมาตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทันที ประเทศเกาหลีที่ใช้ระบบ Cell Broadcasting Service โดยภาครัฐจะอัพเดทการระบาดของ COVID-19 ล่าสุดให้กับประชาชนโดยระบุตำแหน่งของผู้ป่วยในแต่ละเมืองตามเวลาจริง หรือประเทศอิสราเอลที่ทาง Sheba Medical Centre ได้เป็นองค์กรนำร่องของประเทศที่ใช้เทคโนโลยี Telemedicine ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถกักตัวที่บ้าน (Self-Isolation) โดยไม่ต้องมารักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งมหาลัยชั้นนำระดับโลกจากประเทศสหรัฐฯ อย่าง Harvard ก็ได้มีการจัดทำแผนที่อิเล็คทรอนิกส์ที่ชี้ให้เห็นถึงการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกได้

 
จากตัวอย่างกรณีศึกษาการรับมือต่อวิกฤติการณ์ COVID-19 ของหลายประเทศข้างต้น เราจะพบว่านอกเหนือจากความร่วมมืออย่างสามัคคีกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน การสร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้มนุษยชาติบริหารวิกฤติและผ่านพ้นจุดเปลี่ยนสำคัญของศตวรรษนี้ไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลดรายงาน
นอกเหนือจากความร่วมมืออย่างสามัคคีกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน การสร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้มนุษยชาติบริหารวิกฤติและผ่านพ้นจุดเปลี่ยนสำคัญของศตวรรษนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว
ดาวน์โหลด