ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ เปิดเวที Clubhouse ร่วมเสวนาในประเด็น “ตามหายูนิคอร์นแรกของไทย ทำอย่างไรให้สำเร็จ” เน้นย้ำเสริมความแกร่งระบบนิเวศ “Ecosystem” เพื่อยกระดับ Startup ไทยสู่เวทีโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
8 มี.ค. 2564

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 สภาดิจิทัลฯ ได้จัดงานเสวนาใน Clubhouse Application หัวข้อ “ตามหายูนิคอร์นแรกของไทย ทำอย่างไรให้สำเร็จ” ซึ่งเป็นการร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นในประเด็นการทบทวนนโยบาย แนวทาง และนโยบายในการผลักดันให้เกิดยูนิคอร์นแรกในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนด้าน Tech Startup โดยประเด็นการเสวนาได้มุ้งเน้นในเรื่องของคำนิยามและความสำคัญของสัญลักษณ์ยูนิคอร์น (Unicorn) ในวงการสตาร์ทอัพไทย (Startup) ปัจจัยที่สนับสนุนและส่งเสริมการเกิดยูนิคอร์นในประเทศไทย เช่น การลงทุน บุคลากร ข้อบทกฎหมาย และระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่างๆ เป็นต้น บทบาทและความสำคัญของการส่งเสริม Startup และนวัตกรรม เป้าหมายและอนาคตในวงการ Startup ไทย รวมไปถึงนโยบาย และแนวทางในการส่งเสริม Startup ไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนด้าน Tech Startup เทียบกับประเทศชั้นนำของโลก โดยมีผู้ร่วมวงสนทนา ได้แก่ คุณนนทวัตต์ สาระมาน และดร.ธเนศ โสรัตน์ กรรมการสภาดิจิทัลฯ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ คุณอรดา วงศ์อำไพวิทย์ ผู้ช่วยประธานสภาดิจิทัลฯ และหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สภาดิจิทัลฯ ดร. ณวัฒน์ คำนูณวัฒน์ ผู้ดูแลโครงการพันธกิจการเป็นหนึ่งในศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลฯ อีกทั้งยังมีเหล่าสตาร์ทอัพไทยที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสตาร์ทอัพมาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ได้แก่ คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด คุณภีม เพชรเกตุ ผู้ก่อตั้ง และ CEO ผู้ให้บริการ PEAK (peakaccount.com) คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด และคุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช จาก บริษัท ฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด

 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังมีการแสดงข้อคิดเห็นในประเด็นปัจจัย แนวทาง และนโยบายในการผลักดันและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในด้านต่างๆ  เพื่อมุ่งสู่การเป็นยูนิคอร์นแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังมีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมสอบถาม และแสดงความคิดเห็นในมิติต่างๆ อาทิเช่น นิยามและความสำคัญของ Unicorn ในการเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จเพื่อดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ สถิติของ Unicorn เทียบกับต่างประเทศ รวมถึงบริบทของคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในอาเซียน เช่น Grab จากประเทศสิงคโปร์, Go-Jek, Traveloka จาก ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น อุปสรรคในการขยายธุรกิจ Startup ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภาษาและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบ Ecosystem ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด Unicorn รวมไปถึงการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการมี Ecosystem ที่เหมาะสม จะส่งผลต่อการพัฒนาให้เกิดการเติบโตของ Unicorn ในอนาคต แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนกลุ่ม Startup ในรูปแบบ High Risk High Return ให้เหมาะสมกับการลงทุน เพื่อสอดคล้องกับบริบทที่สำคัญต่างๆ ที่จะเอื้อให้ธุรกิจ Startup มีการปรับตัวเพื่ออยู่รอดในยุคแห่งการแข่งขันสูง ไปพร้อมกับการพัฒนาและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น เป้าหมายและจุดเริ่มต้นของบริษัท ความเข้าใจในตลาดการแข่งขัน และศักยภาพของบุคลากร เป็นต้น แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทย ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม และนำไปสู่การดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นโยบายการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา Startup และการคิดค้นนวัตกรรมโดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การให้ความสำคัญด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลในการสร้างแบรนด์ของคนไทยที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ การผลักดันนโยบายในการกำหนดรายละเอียดการสนับสนุน Startup เพื่อเอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนา Ecosystem จากภาครัฐ ได้แก่ สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนการขึ้นบัญชีนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมทางเลือกในการลงทุนของบริษัทสตาร์ทอัพ ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible note) หรือการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อกรรมการหรือพนักงาน (ESOP) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของทุน และลดอุปสรรคให้เงินทุนเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น เป็นต้น


ดร.ธเนศ โสรัตน์ กรรมการสภาดิจิทัลฯ กล่าวเสริมในประเด็นกฎหมายที่มีการสนับสนุน Startup จากภาครัฐว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการประกาศแผนปฎิรูปประเทศฉบับใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงประเทศ โดยระบุในหน้าที่ 109 ด้านการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไว้ว่า 1. ตั้งศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยปรับหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นหรือมอบหมายหน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้วางกรอบยุทธศาสตร์การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศและติดตามวิเคราะห์ช่องว่างของมาตรการการสนับสนุนโดยเฉพาะ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพ เช่น บูรณาการงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของหน่วยงานต่าง ๆ และร่วมสมทบการลงทุนใน สตาร์ทอัพของนักลงทุนภาคเอกชน (Angel Investor และ Venture Capital) ในรูปแบบ Matching Fund เป็นต้น 2. จัดให้มีแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนรวมถึงโครงการสนับสนุนของรัฐให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันเพื่อลดต้นทุนในการสรรหาทีมงาน โครงการสนับสนุนและแหล่งทุน และ 3. ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจและบุคลากรสตาร์ทอัพเพื่อขจัดอุปสรรคในการเริ่มต้นและการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อดึงดูดบริษัทและบุคลากรสตาร์ทอัพต่างชาติ ปรับปรุงข้อกฎหมายด้านการคุ้มครองบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และดึงดูดการร่วมลงทุนผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี เป็นต้น

 

สภาดิจิทัลฯ มีพันธกิจหลักในการเป็นองค์กรกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการนำเสนอนโยบายและกลยุทธ์ให้แก่ภาครัฐ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ คือการมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพไทย โดยการพัฒนา Ecosystem อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมี Startup ที่เติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ โดยสภาดิจัลฯ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายและแนวทางในการสนันสนุน Startup แก่ภาครัฐ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย พร้อมพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเทียบกับประเทศชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคต ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าว


Clubhouse_Unicorn_3