ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์ร่วมกลุ่มสตาร์ทอัพชั้นนำ ถกความคิดเห็น 2 ประเด็นหลัก “การปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550” และ “นโยบายหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของ Startup ไทย
9 ก.ค. 2564

9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา  สภาดิจิทัลฯ นำโดย นายวีระ วีระกุลรองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก และ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ จัดให้มีการประชุมออนไลน์ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ Startup เพื่อระดมข้อเสนอแนะใน 2 ประเด็นหลักสำคัญ ได้แก่ นโยบายและหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทย รวมทั้งในอีกประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ…  เพื่อจัดทำข้อเสนอภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป  ทั้งนี้ในการประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมการค้าและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยเข้าร่วม อาทิ คุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ กรรมการสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย, คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด, คุณภีม เพชรเกตุ ผู้ก่อตั้ง และ CEO บริษัท พีคเอนจิ้น จำกัด (PEAK) และ คุณศศิวิมล เสียงแจ้ว CEO และ Co-Founder บริษัท เดย์เวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประเด็นแรกของการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องของนโยบายและหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทยในหลายประเด็นสำคัญในการร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการยกเว้นการจัดเก็บ Capital Gains Tax  ได้แก่  

 1) หลักเกณฑ์สำหรับนักลงทุน (กิจการเงินร่วมทุน)  ที่ประกอบด้วย  1.1) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย   1.2) มีทุนชำระตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป   1.3) ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายเพียงอย่างเดียวหรือถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายและถือหุ้นในบริษัทอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย   1.4) จดแจ้งกับกลต.ตั้งแต่วันที่ ปี 2559 – 2561 1.5)  ได้รับสิทธิประโยชน์ 10 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่จดแจ้ง

2) คุณสมบัติของ Startup ประกอบด้วย  2.1) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย   2.2) ต้องไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   2.3) เป็นกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ และได้รับการรับรองจาก สวทช.    2.4) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ในบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ จากที่ประชุมสรุปการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นหลักเกณฑ์สำหรับนักลงทุน ได้ข้อเสนอแนะดังนี้คือ ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อบริษัทที่จัดตั้งขึ้นทั้งตามกฎหมายไทย และต่างชาติ, ในกรณีทุนชำระตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไปเห็นว่ามีความเหมาะสม โดยเพิ่มเติมการพิจารณากองทุนในส่วนของ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเปิดช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติ, ไม่ว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติควรได้สิทธิประโยชน์การถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน, การขยายระยะเวลาการจดแจ้งกับกลต. เป็น 5 ปี และ การขยายการได้รับสิทธิประโยชน์เป็น 12 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่จดแจ้ง รวมถึงข้อเสนอด้านคุณสมบัติของ Startup อาทิเช่น เห็นควรให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น เพื่อสนับสนุนให้ Startup ไทยมีการระดมทุนมากยิ่งขึ้น, การทบทวนต่อการสร้างหลักเกณฑ์ในการรับรองผู้ประกอบการ Startup รวมถึงพิจารณาความชัดเจนต่อการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรอง Startup รวมถึงรายได้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และในกรณีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการพิจารณาเพิ่มเติมในด้านความสัมพันธ์ของ SME Board ต่อไป เป็นต้น

 

ต่อจากนั้น การประชุมได้เข้าสู่ในวาระที่ 2 ของในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ… ที่ประกอบด้วยประเด็นหลักๆ ในการแสดงความคิดเห็น ดังนี้  1) ประเภทของผู้ให้บริการ   2) การเพิ่มหน้าที่การพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ได้แก่ 2.1) ผู้ให้บริการต้องจัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับผู้ใช้บริการทุกคน โดยใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและมาตรฐานขั้นต่ำในระดับความน่าเชื่อถือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ยืนยันตัวตนตามที่  ETDA  กำหนด 2.2) การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ผู้ให้บริการต้องใช้วิธีการที่มั่นคงปลอดภัย 2.3) กรณีการเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์แทนผู้ให้บริการ 3) ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์  4) กำหนดการเริ่มจัดเก็บ และ  5) การขอยกเว้นในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ให้บริการไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศฉบับนี้ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ผลสรุปในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้รับคำแนะนำสำคัญๆ เช่น ในการบังคับใช้ประกาศที่อาจไปกระทบกับการจัดเก็บข้อมูลของแพลตฟอร์มที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Telemedicine หรือมีข้อมูลของคนไข้ที่อาจต้องมาเปิดเผยตามกฎหมายฉบับนี้ ควรจะบังคับใช้ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ด้วยหนึ่งในพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ มุ่งที่จะส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจ Startup โดยมีเจตนารมณ์ในการผลักดันให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของโลก สภาดิจิทัลฯ จึงดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ Startup ในการคลี่คลายปัญหา และจัดการอุปสรรค ทั้งในด้านของนโยบายและกฎหมาย ทั้งนี้ผลจากการประชุม สภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะนำเสนอภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการปรับปรุง นโยบาย กฎหมาย และ กฎระเบียบ เพื่อขับเคลื่อนกรอบมาตรการส่งเสริม Startup อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต


messageImage_1625823185467


messageImage_1625819219184


messageImage_1625821904838


messageImage_1625841006295