วิดีโอ
จาก Digital Disruption สู่การดิสรัปตัวเอง ให้ทันโลก New Normal
5 เม.ย. 2564

จาก "วิกฤต" ที่ต้องเปลี่ยน ให้เป็น "โอกาส" เราต้องปรับตัวกันอย่างไร ? มาดูบทสัมภาษณ์ Exclusive Talks : EP1 ตอน "Transform and Digitalize Now" เรื่องเกี่ยวกับการปรับตัวเปลี่ยนแปลงในโลกปกติใหม่ด้วยการใช้ดิจิทัล จากวิสัยทัศน์มุมมองความคิดของ "คุณศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

วิวัฒนาการ มาคู่กับ การเปลี่ยนแปลง
“ชาลส์ ดาร์วิน บอกว่า ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแรงที่สุด ที่ฉลาดที่สุด ที่อยู่รอดได้มาถึงวันนี้ แต่มันคือสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ที่อยู่รอดมาได้ถึงวันนี้”

มนุษย์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ในที่สุดก็ต้องปรับตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง วันนี้ถ้าเราไม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดเวลา Productivity และศักยภาพการแข่งขันของเราก็ลดน้อยลง ถ้าเราอยู่กับที่ ขณะที่คนอื่นใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ขยับเขยื้อนไปเรื่อยๆ แล้วเราไม่รู้จักเวลาที่จะปรับเปลี่ยนก็เท่ากับเราถดถอย เพราะไม่มีใครหยุด ที่สำคัญผู้บริโภคเองก็ไม่เคยหยุด เราเป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ให้บริการ เราจะหยุดไม่ได้ เพราะผู้บริโภคไม่เคยหยุดต้องการสิ่งที่ดีกว่าเดิม เราต้อง Apply เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับเข้าสู่ Digital Transformation

อย่าหยุดท้าทายตัวเอง
เวลาอะไรที่ทำมานานอยู่ใน Comfort Zone ทุกอย่างมันตกตะกอน เราจะเปลี่ยนมัน มันเปลี่ยนยาก เราจึงมีคำว่า “Disruptive” ซึ่งมันไม่ได้มีความหมายเป็นลบ Disruptive เหมือนการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ทดแทน ทำให้เกิดการหยุดชะงัก ทำให้เกิดการที่ของเดิมที่ทำอยู่ มันทำต่อไปไม่ได้ เราต้อง Disrupt ของเดิม ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น เราสร้างอีกตัวหนึ่งเลย อีกหน่วยงานใหม่ อีกธุรกิจใหม่ ที่สามารถ Disrupt หรือทดแทนสิ่งที่เราทำอยู่ได้ เรา Challenge ตัวเอง ดีกว่ารอคนอื่นมา Challenge เรา เป็นการ Disrupt ตัวเอง ทำให้คนที่เคยทำในรูปแบบเดิมคิดว่า ทำไมถึงทำสู้รูปแบบใหม่ไม่ได้ คนนั้นก็จะเกิดความตระหนักรู้ เมื่อพูดในภาพเศรษฐกิจ เราจึงต้องส่งเสริมองค์กร Startup องค์กรที่จะมา Disrupt ระบบเดิมเข้ามา เราไม่ควร Protect ระบบเดิม แม้ว่าจะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจระบบเดิมบ้าง แต่สุดท้ายองค์กรเดิมในระบบเดิมที่คุ้นชินก็จะกลายเป็นปรับตัวได้ เพราะมีคนมา Disrupt มาปลุกให้ตื่น ไม่งั้นก็จะถูกทดแทน 

วิกฤตการณ์ โควิด-19 สอนอะไรเรา ?
ผมคิดว่า ทุกวิกฤตการณ์สอนอะไรเราหลายอย่าง ในแง่ของโลกมักจะ Rebound กลับฟื้นคืนขึ้นมาได้ ยิ่งในยุคเศรษฐกิจ New Economy หรือ Digital Economy รวมกับเรื่อง Globalization ที่ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว เมื่อสองอันนี้บวกกันเราจะฟื้นตัวเร็วมาก

วิกฤตการณ์สอนอะไรเรา ? ในเรื่องโควิดสอนให้เรารักสุขภาพมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น และสอนให้เราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น พฤติกรรมเราจะมีการปรับเปลี่ยนเร็วขึ้น จากเดิมที่เราใช้วิถีชีวิตที่เราเคยคุ้นชิน  ตอนนี้เริ่มมีวิถีชีวิตในรูปแบบที่เราไม่คุ้นชิน คนรุ่นใหม่อาจจะคุ้นชินกว่า คนบางรุ่นอาจจะต้องปรับตัว คนที่ปรับตัวช้าก็จะปรับเร็วขึ้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนเท่านั้น แต่รวมถึงองค์กร อุตสาหกรรม ชุมชน สังคม หรือแม้กระทั่งเมือง เช่น เราพูดเรื่อง Smart City ก็จะปรับตัวเร็วขึ้นด้วย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ Smart City จะโฟกัสไปที่ความปลอดภัย มลพิษ ความสะดวกสบาย แต่ยุคหลังโควิดจะเป็น Smart City ที่จะทำอย่างไรให้สุขภาพดี ป้องกันหรือปกป้องสุขภาพของเราได้ เพราะมิติเหล่านี้ เราจะได้เรียนรู้เร็วขึ้น ปรับพฤติกรรมเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการปรับพฤติกรรมหลังโควิด เราจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม และมันจะอยู่ในความทรงจำเราว่า มันเคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้นนะ มันมีผลกระทบต่อชีวิตเราค่อนข้างสูง ดังนั้นพฤติกรรมเราจะปรับเปลี่ยน ส่วนตัวผมจะคิดทางบวกเสมอ สิ่งที่เป็นเรื่องยาก อย่างวิกฤตการณ์นี้ที่เกิดขึ้นกับเรา เกิดกับหลายประเทศ หรือเรียกว่าเกือบจะทั้งโลก มักจะสอนสิ่งมีค่ากับเรา เราต้องเอาสิ่งที่มีค่านั้นกลับออกมาใช้ให้ได้

การเร่งปฏิกิริยาของ Digital Transformation กับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
แต่ละอุตสาหกรรมมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ ทั้งหมดทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ทุกอุตสาหกรรมต้อง Digitalize เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แต่อุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนตาม อุตสาหกรรมนั้นจะล้าสมัย เพราะผู้บริโภคเริ่มที่จะบริโภคออนไลน์ E-commerce วิถีชีวิตหรือ Need ต่างๆ ในอดีตจะเปลี่ยนไป ถ้าอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวตามและตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ ความกังวลใหม่ ความต้องการใหม่ ทุกอุตสาหกรรมก็จะมีปัญหาหมด การที่จะตอบโจทย์ได้ก็ต้อง Digitalize ต้องปฏิรูปตัวเอง ต่อไปต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เชื่อมโยงกับผู้บริโภคด้วยการเชื่อมโยงแบบดิจิตอล (Digital Connectivity) ให้ได้ แล้วผู้บริโภคก็จะรู้จักเรา เข้าถึงเราได้ง่าย ตัวเราเองก็จะเข้าถึงตลาด Segmentation ลงไปถึงตัวบุคคล เราจะเข้าใจผู้บริโภคได้รวดเร็ว สิ่งที่เป็นขั้นบันไดในระหว่างทางจะ Collapse หายไปเยอะ

ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยน หรือคู่แข่งเปลี่ยนได้เร็วกว่า เราก็จะล้าสมัย เพราะฉะนั้นทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่ากระทบมากหรือน้อย ยังไงก็ต้องปรับให้เข้าสู่ยุค New Economy เศรษฐกิจ 4.0 แต่ที่ผ่านมาอัตราการเร่งหรือปัจจัยเร่งในการปรับอาจจะน้อย ทั้งผลกระทบต่อตัวเรา มันไม่เยอะ มันไม่ชัด แต่ตอนนี้ชัด ทุกอุตสาหกรรมโดนกระทบหมด ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในอัตราเร่งหมด ทุกอุตสาหกรรม ทุกบริษัท ก็ต้องปรับตัว ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ถ้าเห็นพฤติกรรมใหม่เหล่านี้ แล้วปรับตัวเร็วและทำได้ดี ก็อาจจะกลายเป็นผู้นำไปเลย หรืออาจจะเกิดผู้นำใหม่ ท่ามกลางวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงนี้


ดาวน์โหลดวิดีโอ
จาก "วิกฤต" ที่ต้องเปลี่ยน ให้เป็น "โอกาส" เราต้องปรับตัวกันอย่างไร ? บทสัมภาษณ์ Exclusive Talks : EP1 ตอน "Transform and Digitalize Now"
ดาวน์โหลด