รายงาน
กิจกรรมของภาคธุรกิจไทยในช่วง COVID-19 ด้วยสถิติการรับส่งข้อมูลผ่าน Internet
31 ส.ค. 2563

การส่งรับข้อมูลทาง Internet มีความสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจด้านการโรงแรม และกลุ่มด้านการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

Key Findings:

  • สถิติทางด้านการรับส่งข้อมูลทาง Internet มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมของภาคธุรกิจ และมีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ
  • ปริมาณการรับส่งข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยลดลง 40% ในช่วงที่มีการระบาด COVID-19 และมาตรการการควบคุมจากภาครัฐอย่างเข้มข้น (เดือนเมษายนและพฤษภาคม)
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นพร้อมกับมีการผ่อนปรนของมาตรการที่เกี่ยวข้อง ปริมาณการรับส่งข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 23% อย่างไรก็ตาม ยังน้อยกว่าในช่วงก่อนการระบาดอยู่ 27%
  • เมื่อเปรียบเทียบกับหลากหลายกลุ่มธุรกิจ พบว่ากลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการด้านการโรงแรมมีการส่งรับข้อมูลและการเชื่อมต่อที่ลดลงมากที่สุดในช่วงมาตรการการคุมเข้มในช่วง COVID-19 คือการส่งรับข้อมูลลดลง 79% และจำนวนการเชื่อมต่อลดลง 70% สะท้อนกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงอย่างมาก
  • กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน เช่นธนาคารและการบริการประกันภัย ถือเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่เห็นการลดลงของกิจกรรมทางด้านการรับส่งข้อมูลในเชิงปริมาณเลย คือลดลงเพียง 6% ในช่วงการแพร่ระบาด อีกทั้งยังมีปริมาณที่มากขึ้นอีกเล็กน้อย (หรือประมาณ 4%) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทย
  • กลุ่มธุรกิจทางการเกษตรและอาหารเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีปริมาณการส่งรับข้อมูลในช่วงที่มีการผ่อนปรนที่มากขึ้นกว่าก่อนช่วงระยะแพร่ระบาดอย่างมีนัยยะสำคัญคือถึง 24%

ตั้งแต่ต้นปี พ.. 2563 ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงไม่ใช่เฉพาะกับสุขภาพของคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงเช่นเดียวกัน โดยได้มีการประเมินการจาก World Economic Forum ว่าการแพร่ระบาด COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงยิ่งกว่าช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกหรือ Great Depression ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เสียอีก ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองนั้นถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดการการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีจนได้รับความยกย่องจากนานาประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลไปสู่ปัญหาด้านสังคมวงกว้างก็ยังคงเป็นที่กังวลของประชาชนทั่วไป โดยได้มีคาดการจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ว่าจะมีจำนวนประชาชนที่เสี่ยงกับการว่างงานถึง 8.4 ล้านคน ประกอบกับรายงานของ World Bank เรื่อง Thailand Economic Monitor June 2020: Thailand in the Time of COVID-19 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะหดตัวอย่างน้อย 5% ในปีนี้อีกด้วย เป็นที่ยืนยันว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศต่างเห็นว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลที่ถูกทำมาวิเคราะห์เพื่อการคาดการต่าง ๆ จากหลายสำนักโดยส่วนมากล้วนเป็นข้อมูลทางเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการ อัตราการการว่างงาน ปริมาณการลงทุน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าและบริการ เป็นที่น่าสนใจว่าข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตของภาคอุตสาหกรรมไทยจะสามารถสะท้อนกิจกรรมทางด้านธุรกิจในช่วง COVID-19 ได้มากน้อยเพียงใด รายงานนี้จึงได้ทำการนำเสนอบทวิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตของบริษัทในไทยที่ส่งไปภายนอกประเทศจากกว่า 3,000 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนของปริมาณข้อมูลของบริษัทในไทยที่มีการรับส่งข้อมูลผ่านทาง Internet ไปสู่ต่างประเทศนั้นประมาณไม่เกิน 20% ของปริมาณทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ข้อมูลส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญและสามารถชี้แนะแนวทางการใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อการวิเคราะห์กิจกรรมทางธุรกิจในอนาคตได้ 

รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงปริมาณการรับส่งข้อมูล (Bytes) รวมทุกบริษัทในฐานข้อมูลในแต่ละเดือน จะเห็นได้ว่าโดยรวมแล้วปริมาณการรับส่งข้อมูลของบริษัทในฐานข้อมูลมีการรับส่งข้อมูลที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ในขณะเริ่มมีการรับส่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และมาตรการภาครัฐ

รูปที่ 1 ปริมาณการรับส่งข้อมูล (Bytes) รวมทุกบริษัทในฐานข้อมูลในแต่ละเดือน

เราจึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมมาโดยพิจารณาเป็นสามช่วงเวลาดังนี้

  1. ช่วงก่อนการแพร่ระบาดในประเทศไทยและมาตรการภาครัฐต่าง ๆ คือ เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
  2. ช่วงที่มีการแพร่ระบาดและมีการออกมาตรการคุมเข้ม คือ เดือนเมษายนและพฤษภาคม
  3. ช่วงที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ คือ เดือนมิถุนายน และกรกฎาคม

รูปที่ 2 แสดงปริมาณการรับส่งข้อมูล (Bytes) ที่เป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนของแต่ละกลุ่มธุรกิจของสามช่วงเวลา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในภาพรวมแล้วทุกธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือทุกธุรกิจมีแนวโน้มการรับส่งข้อมูลที่ลดลงในช่วง 2 ที่มีมาตรการคุมเข้มเรื่อง COVID-19 และจะมีแนวโน้มการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นในช่วงที่ 3 ที่สถานการณ์เรื่องการระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการการควบคุมจากภาคเริ่มผ่อนคลาย ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่เมื่อมีการ ปิดเมือง เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบแง่ลบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ และเมื่อมีการ เปิดเมือง กิจกรรมทางธุรกิจก็ควรที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

รูปที่ 2 ค่าเฉลี่ยปริมาณการรับส่งข้อมูล (Bytes) รายเดือนของแต่ละกลุ่มธุรกิจตามสามช่วงเวลาสถานการณ์ COVID-19

นอกเหนือจากนี้ ข้อมูลยังชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการรับส่งข้อมูลในแต่ละช่วงเวลานั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนได้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจของแต่ละกลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป โดยเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการรับส่งข้อมูลที่น้อยลงจากช่วงที่ 1 ไปช่วงที่ 2 นั้น พบว่า

  1. กลุ่มธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่เด่นชัดจากกลุ่มอื่น คือ กลุ่มโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ โดยกลุ่มโรงแรมมีปริมาณที่ลดลงคิดเป็นสัดส่วนจากช่วงที่ 1 มากถึง 79% ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่างจากลำดับที่สองคือกลุ่มการศึกษาอย่างมีนัยยะสำคัญ
  2. กลุ่มธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงปานกลาง คือ กลุ่มธุรกิจด้านการศึกษา (46%) กลุ่มบริษัทให้บริการด้านวิชาชีพ (40%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (39%) กลุ่มเทคโนโลยี (38%)
  3. กลุ่มธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย ได้แก่กลุ่มค้าปลีก (19%) กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ (16%) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (15%) กลุ่มเครือบริษัทขนาดใหญ่ (13%) กลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหาร (11%) หน่วยงานภาครัฐ (9%) และกลุ่มธุรกิจการเงิน (6%)

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดย่อยในกรุงเทพฯ และกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในต่างจังหวัด มีสัดส่วนที่ลดลง 37% และ 36% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ล้วนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากก็น้อยเมื่อดูจากการรับส่งข้อมูลซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของกิจกรรมทางธุรกิจ

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของการรับส่งข้อมูลช่วงที่ 2 เปรียบเทียบช่วงที่ 3 ด้วยนั้น เราพบว่ากลุ่มที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุด (ในแง่ของปริมาณการรับส่งข้อมูล) คือ กลุ่มธุรกิจขนาดย่อยในกรุงเทพฯ (49%) และกลุ่มธุรกิจด้านการศึกษา (40%) และประเด็นที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นคือมีเพียงสองกลุ่มธุรกิจเท่านั้นที่ปริมาณการรับส่งข้อมูลในระยะที่มีการผ่อนปรนมาตรการ หรือช่วงที่ 3 เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาที่ 1 คือ กลุ่มธุรกิจทางการเกษตรและอาหารที่พบว่ามีการใช้ข้อมูลในปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 24% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจทางด้านการเงินและกลุ่มเครือธุรกิจขนาดใหญ่และพลังงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นปริมาณที่มากนัก กล่าวคือ 4% และ 3% ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีการเก็บสถิติการรับส่งข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน คือจำนวนการเชื่อมต่อ (Connections) ซึ่งจำนวนการเชื่อมต่อนี้จะเป็นการนับที่ขึ้นอยู่กับวิธีการรับส่งข้อมูล หรือ Communication Protocol เช่น การรับส่งข้อมูลที่ต้องการการ Establish Connection จะมีลำดับเพื่อการสื่อสารรับส่งข้อมูลอย่างง่าย ดังนี้คือ 1) เชื่อมต่อระหว่างผู้รับผู้ส่ง 2) ดำเนินการรับส่งข้อมูล 3) ยกเลิกการเชื่อมต่อเมื่อเสร็จสิ้น โดยระบบก็จะทำการนับการเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเมื่อผ่านกระบวนการครบถ้วนทั้งขั้นตอนที่ดังกล่าวมา โดยเราสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าสถิติจำนวนการเชื่อมต่อนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมของผู้ใช้งานหรือในกรณีนี้คือบริษัทต่าง ๆ แต่จะในมุมมองที่แตกต่างจากข้อมูลเชิง ปริมาณ ของการรับส่งข้อมูลที่เสนอมาข้างต้น

รูปที่ 3แสดงถึงจำนวนการเชื่อมต่อของทุกบริษัทในฐานข้อมูลในแต่ละเดือนซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนการเชื่อมต่อแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมมาจนถึงช่วงพฤษภาคมโดยมีอัตราความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในช่วงเมษายนและพฤษภาคมและจำนวนการเชื่อมต่อมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายนและทรงตัวในเดือนกรกฎาคม

รูปที่ 3 จำนวนการเชื่อมต่อเพื่อการรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตในแต่ละเดือน

จะเห็นได้ว่าหากแบ่งช่วงเวลาเป็นสามช่วงตามที่ได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณการรับส่งข้อมูลก่อนหน้านี้ เราสามารถวิเคราะห์จำแนกแต่ละประเภทกลุ่มธุรกิจได้ตามที่แสดงอยู่ใน รูปที่ 4 ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแต่ละกลุ่มธุรกิจจะแสดงแนวโน้มคล้าย ๆ กันที่สอดคล้องกับในกรณีของปริมาณการรับส่งข้อมูลหรือรูปที่ 2 กล่าวคือในช่วงที่ 2 หรือช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยค่อนข้างร้ายแรงและมีมาตรการมากมายนั้นจะเป็นช่วงที่จำนวนการเชื่อมต่อลดลง และจะเพิ่มขึ้นเมื่อช่วงที่ 3 หรือคือช่วงที่เริ่มมีการผ่อนคลายทางมาตรการนั่นเอง โดยเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มีอัตราจำนวนการเชื่อมต่อที่ลดลงสูงสุดพบว่าเป็นกลุ่มธุรกิจด้านการโรงแรม ที่พบว่าจำนวนการเชื่อมต่อเฉลี่ยต่อเดือนลดลงถึง 70% และกลุ่มธุรกิจด้านการศึกษาที่มีสัดส่วนลดลง 31% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสอดคล้องกับแนวโน้มจากสถิติด้านปริมาณของการรับส่งข้อมูล ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่ากลุ่มธุรกิจโรงแรมน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ COVID-19 มากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจเพื่อการศึกษา

รูปที่ 4 ค่าเฉลี่ยของจำนวนการเชื่อมต่อ (ครั้ง) รายเดือนของแต่ละกลุ่มธุรกิจตามสามช่วงเวลาในสถานการณ์ COVID-19

ประเด็นที่น่าสนใจคือไม่ใช่ทุกธุรกิจเป็นไปตามแนวโน้มดังกล่าว (การเชื่อมต่อลดลงช่วงการระบาด และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงผ่อนคลายมาตรการ) กล่าวคือ สำหรับกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน (Financial Services) นั้น พบว่าในช่วงที่ 2 (ช่วงระบาดสูงสุด) กลับมีจำนวนการเชื่อมต่อสูงขึ้นอย่างมาก คือเพิ่มขึ้น 48% ในขณะที่ปริมาณการรับส่งข้อมูลลดลงเล็กน้อย (6%) และในอีกรณีหนึ่งที่บางธุรกิจกลับพบว่าจำนวนการเชื่อมต่อลดลงอย่างต่อเนื่องแม้จะเข้าสู่ช่วงที่มีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ แล้วก็ตาม ได้แก่กลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ (Property) กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในกรุงเทพฯ (BMA Small Business) และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (Industry & Manufacturing)

ทั้งสองแนวโน้มนี้ แสดงถึงทิศทางที่ สวนทาง กันระหว่างปริมาณการรับส่งข้อมูลและจำนวนการเชื่อมต่อ กล่าวคือ ปริมาณการรับส่งข้อมูลลดลงในขณะที่จำนวนการเชื่อมต่อกับเพิ่มขึ้น หรือในทางตรงกันข้าม

สำหรับกรณีที่ปริมาณการรับส่งข้อมูลลดลงในขณะที่จำนวนการเชื่อมต่อกับเพิ่มขึ้นนั้นอาจมากสาเหตุที่กลุ่มธุรกิจมีพฤติกรรมการธุรกิจหรือรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปที่ทำให้อัตราส่วนปริมาณข้อมูลต่อจำนวนการเชื่อมต่อลดลง ยกตัวอย่างเช่น อาจมีการทำงานที่ต้องการเชื่อมต่อในจำนวนที่มากขึ้นในขณะที่ปริมาณที่รับส่งข้อมูลต่อหนึ่งการเชื่อมต่อ หรือ Transaction นั้นลดลงอย่างมากเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้ามในกรณีหนึ่งที่ปริมาณการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนการเชื่อมต่อกลับลดลงนั้นก็น่าจะมาจากสาเหตุที่การทำงานที่อาศัยการเชื่อมต่อน้อยครั้งลงแต่การเชื่อมต่อแต่ละครั้งกลับมีการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามข้อมูลเท่าที่มีในขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในการทำงานที่ส่งผลต่อการส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตได้ มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเชิงลึกมาประกอบโดยเฉพาะข้อมูลที่สามารถระบุถึงประเภท Application ที่แต่ละกลุ่มธุรกิจใช้ได้

โดยสรุปแล้วรายงานนี้พบว่าข้อมูลสถิติการส่งรับข้อมูลทาง Internet ของบริษัทมีความสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจด้านการโรงแรม และกลุ่มด้านการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากทั้งในเชิงกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงหรือพฤติกรรมของการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาวิธีการที่จะนำสถิติการรับส่งข้อมูลที่มาเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจหรือการวิเคราะห์เพื่อการคาดการทางด้านเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามชุดข้อมูลที่นำมาเสนอนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงประเภทของ Application ที่ใช้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจที่แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลทั้งสองส่วนไม่ว่าจะเป็นปริมาณของข้อมูลและจำนวนการเชื่อมต่อ จะไม่สามารถสะท้อนถึงปัญหาการล้มเลิกกิจการ เนื่องจากเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ และยังไม่สามารถสะท้อนถึงการว่าจ้างงานได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึกที่กล่าวมาก่อนหน้านี้มาประกอบเพิ่มเติม

ที่มา : 

New York Times “No one knows what Thailand is doing right, but so far, it’s working”, 16 Jul 20 https://www.nytimes.com/2020/07/16/world/asia/coronavirus-thailand-photos.html

สภาพัฒน์เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 28 .. 2563 https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=10260&filename=index

Thailand Economic Monitor June 2020: Thailand in the Time of COVID-19 https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/thailand-economic-monitor-june-2020-thailand-in-the-time-of-covid-19

บทความโดย
สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ดาวน์โหลดรายงาน
การส่งรับข้อมูลทาง Internet มีความสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจด้านการโรงแรม และกลุ่มด้านการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
ดาวน์โหลด