report
พลิกวิกฤติโควิด-19 สู่องค์กรยุคดิจิทัล
17 Apr 2020

โอกาสและวิกฤติเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งตามคติทวินิยมเชิงลักษณะอย่าง หยิน-หยาง ที่เชื่อว่าสภาวะธรรมชาติที่มีอยู่คู่ตรงกันข้ามจะก่อให้เกิดสิ่งต่างๆบนโลกนี้ ถ้าใช้หลักคิดนี้มองวิกฤติโควิด-19 ก็จะเห็นโอกาสมากมายอยู่รอบๆ ตัวเรา แต่ใครเห็นอะไรและจะสามารถคว้าโอกาสมาได้ไหมเป็นเรื่องที่ชวนคิดชวนติดตาม

ในมุมประชาชนผู้บริโภค ช่วงวิกฤติที่ประชาชนจำต้องอยู่ห่างกัน (social distancing) ถูกจำกัดกิจกรรมและการเดินทาง ทำให้เกิดความเครียด เสียโอกาสในอาชีพการงาน การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การบันเทิง ตลอดจนความพึงพอใจในการเข้าถึงสินค้าบริการ แต่ก็ได้รับสินค้าและบริการในสิ่งจำเป็นรูปแบบใหม่ๆที่บรรเทาความทุกข์ยากไปได้ระดับหนึ่ง เช่น ระบบส่งอาหารถึงบ้าน (food delivery) หรือการทำงานที่บ้าน (WFH) ด้วยการประชุมระบบออนไลน์ (video conference)

แทบไม่น่าเชื่อในช่วงวิกฤติสั้นๆเพียงไม่กี่วันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในเรื่องเหล่านี้ การส่งอาหารถึงบ้านซึ่งเคยทำกันมานานในลักษณะผูกปิ่นโต และเรื่องประชุมออนไลน์ที่ธนาคารโลกจัดครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีก่อนแต่ก็แค่นั้นไม่มีอะไรใหม่ๆตามมา แต่ครั้งนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมรรคเป็นผลจริงๆ เช่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมกินอาหาร รูปแบบระบบการทำอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร การขนส่งอาหาร การชำระบิลค่าอาหาร  และยังเห็นการปรับปรุงร้านและการเลิกกิจการร้านอาหารมากขึ้น

ระบบส่งอาหารถึงบ้าน ร้านค้าที่จะเข้าระบบต้องปรับตัวในเรื่องคุณภาพสินค้าและความเร็วให้ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ ร้านค้าที่ไม่ได้ผูกติดกับระบบ อาจเพราะสมัครไม่ได้หรือไม่สนใจ หรืออาจจัดส่งเองก็มักสู้ไม่ได้ จะสูญเสียลูกค้าจนอยู่ไม่ได้ อนาคตธุรกิจร้านอาหารในเมืองจะรุ่งจะรอดหรือไม่รอดตัดสินกันไม่นานและปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย (perishable goods) ก็ต้องปรับตัวหนัก เกษตรกรเคยทำผักผลไม้คุณภาพส่งออกนอกหรือส่งห้างใหญ่ตามออเดอร์ แต่เมื่อตลาดถูกปิด  จะนำสินค้าบรรทุกรถไปเร่ขายก็ไม่ได้ หากไม่มีทางเลือกหรือปรับตัวไม่ทันก็เสียหายขาดทุนทันที หากปรับตัวทันระบายสินค้าทางออนไลน์ มีเพื่อนพ้องเครือข่ายช่วยซื้อช่วยกระจายสินค้าก็รอดได้   สินค้าประมงก็เป็นอีกตัวอย่างที่ผลิตได้รายวันแต่ขายไม่ได้ก็ต้องหาช่องทางรอดด้วยระบบออนไลน์ แต่คนที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ก็เดือดร้อน

ระบบค้าปลีกออนไลน์ในช่วงนี้จึงเติบโตเร็วมาก มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในระบบบรรจุหีบห่อ ระบบขนส่งสินค้า ระบบการเงิน  เห็นบริษัทรับขนส่งสินค้าเติบโตแบบก้าวกระโดด และก็เห็นเกษตรกรหรือเจ้าของร้านค้าที่ปรับตัวไม่ได้ต้องล้มเหลวและหยุดกิจการ

ทุกการเปลี่ยนแปลงจึงมีทั้งคนได้และคนเสีย โอกาสมีเสมอสำหรับคนที่พร้อมที่สุดและปรับตัวได้เร็วที่สุด แต่จะทำให้พร้อมและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เชื่อว่าเป็นคำถามในใจของผู้บริหารองค์กรทุกคน

เรื่องทำงานที่บ้านก็น่าสนใจเพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการบริหารจัดการองค์กร  เมื่อต้องปรับพฤติกรรมคนและกลไกทางธุรกิจ คนทำงานมักเริ่มด้วยเครื่องมือจัดประชุมง่ายๆ เช่นไลน์กลุ่ม เมื่อเรื่องมากขึ้นซับซ้อนขึ้นต้องการความต่อเนื่อง ก็เริ่มหาโปรแกรมที่ดีมีประสิทธิภาพกว่า เช่น Skypt, Zoom, TrueVWork  เมื่อข้อมูลมากขึ้นซับซ้อนขึ้นและต้องเชื่อมโยง ก็ต้องการอัพเดตอุปกรณ์และระบบให้มีประสิทธิภาพและความสามารถสูงขึ้น ต้องการสัญญาณ internet/WiFi  ที่มีสัญญาณแรงขึ้น มีระบบการเงินที่รวมเร็วคล่องตัวขึ้น (mobile payment)  ความต้องการที่เกิดขึ้นกระทันหันในภาวะวิกฤติเร่งด่วนต่างๆ เหล่านี้คือโอกาสทั้งนั้น ทั้งโอกาสทางธุรกิจ ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ อุปกรณ์อัจฉริยะ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเฉพาะด้าน,  วิดิโอแพลตฟอร์ม, ดิจิทัล คอนเทนต์  รวมทั้งการเรียนรู้แบบออนไลน์ รองรับความต้องการ  ซึ่งครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ของภาคธุรกิจ และโอกาสทางสังคมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ปัญหาอันเกิดจากความล้าหลังไม่เท่าทัน และการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่การเป็นดิจิทัลได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่กว่าของสังคมโลก

แต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดการหยุดชะงักงัน (technology disruption) ซึ่งจะกดดันให้ต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งก็จะมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ มีคนได้คนเสีย แต่เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง สังคมจะทำให้คนได้เปรียบแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างไร และจะดูแลคนเสียเปรียบอย่างไรโดยไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง เชื่อว่าหลังวิกฤติ ระบบ WFH อาจทำให้ภาคธุรกิจปลดพนักงานบางส่วนออกไป จะช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างไร ต้องช่วยกันคิด

วิกฤติโควิด-19 เกิดในช่วงเวลาที่ยังมีสงครามการค้าคุกรุ่นควบคู่กับปัญหาภัยพิบัติสารพัดจากสภาวะโลกร้อน สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างนี้ยิ่งมีส่วนให้ technology  disruption ส่งผลรุนแรงขึ้นอีก  คนอย่างบิล เกตส์ หรือ แจ๊คหม่า ซึ่งเชื่อว่านำกระแสการพัฒนาและอยู่เหนือปัญหาสามารถนำองค์กรของเขารอดพ้นวิกฤติได้และยังอาจได้รับโอกาสเพิ่มเสียอีก แต่สำหรับ CEOs และผู้นำองค์กรธุรกิจทั่วไปที่อยู่ในกระแสการพัฒนาและเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่ท้าทายอยู่เสมอจะปรับตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงจะรักษาองค์กรให้เติบโตได้

ผลการสำรวจผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างๆโดย Harvard business review ในปี 2019 ระบุว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นดิจิทัลขององค์กรธุรกิจในสหรัฐกว่า ร้อยละ 70 ไม่บรรลุเป้าหมายทั้งที่ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นคือเงินจำนวนกว่า 900 พันล้านเหรียญสหรัฐใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์  เขาให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในด้านประสิทธิภาพและความใกล้ชิดลูกค้า ถ้าผู้บริหารขาดความคิดที่ถูกต้องในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและองค์กรมีข้อพกพร่อง การปรับตัวสู่องค์กรดิจิทัลจะไม่ประสบผลสำเร็จ คำอธิบายนี้มีนัยว่ากุญแจสำคัญเข้าสู่การเป็นดิจิทัลคือผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องนั่นเอง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกต้องหรือไม่

โลกเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งจากพฤติกรรมมนุษย์ ในสภาวะโลกร้อนและเกิดภัยพิบัติรุนแรงบ่อยครั้งอย่างนี้อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึง แต่ไม่ว่าโลกจะเกิดวิกฤติอย่างไร คนก็ยังต้องกินต้องอยู่ต้องใช้ ต้องศึกษาหาความรู้ ต้องเดินทางติดต่อสื่อสารสังคมกัน ยังต้องออกกำลังเล่นกีฬาพักผ่อนท่องเที่ยว เจ็บป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาล การรับมือการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่คาดเดายากและส่งผลรุนแรงมากขึ้น นอกจากต้องปรับพฤติกรรมมนุษย์ให้ลดความก้าวร้าวลง เกื้อกูลกับธรรมชาติให้มากขึ้นแล้ว ยังต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยรับมือ และในศตวรรษนี้ก็เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพที่จะรับมือกับวิกฤติต่างๆให้ผ่อนหนักเป็นเบา

ตัวอย่างที่ดีจากวิกฤติโควิด-19 ดูได้จากการสร้างโรงพยาบาลที่เมืองอู่ฮั่นของรัฐบาลจีนจำนวน 1,000 เตียงและติดตั้งอุปกรณ์เสร็จพร้อมปฏิบัติการได้ภายใน 10 วัน หรือการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยที่มีกำลังผลิตมากถึงเดือนละ 3 ล้านชิ้นให้บุคลากรการแพทย์ในไทย ของเครือบริษัทซีพี ทำสำเร็จได้ใน 5 สัปดาห์  งานสำคัญและเร่งด่วนมากอย่างนี้ต้องใช้ข้อมูลและการเชื่อมประสานข้อมูลและคนด้วยพลังมหาศาล แต่ด้วยวิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำ ผนวกกับพลังเทคโนโลยีดิจิทัลก็ทำให้สิ่งมหัศจรรย์ที่ดีๆและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างนี้เกิดขึ้นได้

การปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลไม่อาจทำสำเร็จได้ชั่วข้ามคืน กระบวนการปรับตัวต้องการพลังขับเคลื่อนและการลงทุนสูง และการลงทุนจะไม่เสียเปล่าถึงร้อยละ 70 ดังตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ถ้ามีผู้นำที่วิสัยทัศน์ถูกต้องทันเกมส์ มีความรู้เทคโนโลยีและระบบนิเวศดิจิทัล (digiral ecosystem) ที่ทรงประสิทธิภาพ มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ดีคอยช่วยชี้เป้าและนำทาง และมีระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งเป็นหลักประกันการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย แม้เป็นองค์กรค่อนข้างใหม่ แต่มีรากฐานที่แข็งแกร่งจากสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสาระสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยเดิม และมี 6 กลุ่มธุรกิจ 21 สมาคมที่เข้มแข็งเป็นสมาชิก ทั้งยังมีแผนปฏิบัติการ 5 ปีซึ่งมีมีวิสัยทัศน์ช่วยชี้ทาง มีแผนยุทธศาสตร์และกิจกรรมขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลของประเทศ ก็เชื่อว่าการปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัลระดับประเทศในภาพรวมก็น่าจะไปได้ดี

ส่วนในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยจังหวะเวลา โอกาส และการประสานความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งในระดับบริษัท สมาคม กลุ่มอุตสาหกรรม และระดับสภาร่วมกับสภาวิชาชีพอื่นๆ ด้วยกัน และที่สำคัญคือการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาล และการสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน

โอกาสในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีอยู่ทั่วไป  เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน กลุ่มฮาร์ดแวร์ กลุ่มซอฟแวร์ กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์  และกลุ่มบริการดิจิทัล จะมองเห็นโอกาสใหม่ๆ และใช้โอกาสนั้นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้ทั่วหน้ากัน  ผู้บริหารองค์กรหรือกลุ่มองค์กรที่คว้าโอกาสได้มากคือผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง กล้าตัดสินใจ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและกระบวนการตัดสินใจได้ เชื่อมสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลูกค้าได้ และที่สำคัญคือต้องปรับตัวได้เร็วเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ความชอบความปรารถนาของลูกค้าคือโจทย์สำคัญในการพัฒนาองค์กรของท่าน

แม้วงการดิจิทัลไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติในเรื่องสำคัญ เช่น ระบบ  cloud ระดับประเทศ รวมทั้งระบบ big data ทั้งในส่วนการจัดเก็บข้อมูล คุณภาพ การวิเคราะห์ การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่ยังไม่แข็งแรงพอ ข้อมูลส่วนใหญ่ของคนไทยจึงไม่ได้อยู่ในไทย ปัญหานี้มีส่วนทำให้ธุรกิจการค้าไทยโดยเฉพาะในเรื่อง IT เสียเปรียบการแข่งขันไม่น้อย แต่เชื่อว่าพลังความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และการสนับสนุนของภาคประชาสังคม จะช่วยคลี่คลายปัญหาอุปสรรคใหญ่ๆเหล่านี้ลงไปได้โดยเร็ว

วัฒนธรรมการเรียนรู้ของประชาชนมีส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมความเชื่อให้เอื้อต่อการเป็นสังคมดิจิทัล ต้องอาศัยกระบวนการทางการศึกษา (digital literacy) ที่เข้มแข็ง  ซึ่งเชื่อว่าการเรียนผ่านอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ (E-learning) จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการสร้างโอกาสทางการศึกษาของประชาชนให้เท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ที่หลากหลายดึงดูดความสนใจและตรงกับความสนใจของคนกลุ่มต่างๆ ก็จะมีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นการศึกษาให้ก้าวหน้าได้เร็วขึ้น

เชื่อว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 เปิดโอกาสให้สังคมไทยโดยเฉพาะวงการดิจิทัลได้ทบทวนตัวเอง กระบวนการปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลจะทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งใหม่ๆ สร้างขยายโอกาสใหม่ๆ ให้มากยิ่งๆขึ้นไป และมั่นใจว่าสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยจะเป็นเพื่อนคู่คิดร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัลให้สำเร็จต่อไป

บทความโดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์

download report
โอกาสและวิกฤติเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งตามคติทวินิยมเชิงลักษณะอย่าง หยิน-หยาง ที่เชื่อว่าสภาวะธรรมชาติที่มีอยู่คู่ตรงกันข้ามจะก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ บนโลกนี้
download