news
สภาดิจิทัลฯ ร่วมกับ DIP DEPA และ NIA จัดสัมมนา “ความสำคัญของสิทธิบัตรและดิจิทัลเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ”
8 Dec 2020
8 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารสุทธิ ถนนเพชรบุรี สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดย คุณธง ตั้งศรีตระกูล รองประธานและประธานพันธกิจด้านพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ในประเทศ) กล่าวเปิดงานสัมมนาให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางการปฏิบัติ เรื่อง “ความสำคัญของสิทธิบัตรและดิจิทัลเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ” โดยภายในงาน ดร.วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก ได้ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” นอกจากนี้ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานและประธานพันธกิจงานโครงการพิเศษ ได้ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “ความสำคัญ แนวทางความสำเร็จ และประสบการณ์การขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับ สถานการณ์การจดสิทธิบัตรในประเทศไทย สถิติข้อมูลสิทธิบัตร ขั้นตอนการจด-แจ้ง ระยะเวลา และปัญหาที่พบบ่อย แนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงประสบการณ์ และความต้องการจากภาคเอกชนในการจดสิทธิบัตรในประเทศไทย นอกจากนั้นยังเป็นการให้ข้อมูลและความรู้ด้านการจดสิทธิบัตรแก่สมาชิกและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือด้านการจดสิทธิบัตร และสนับสนุน การพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ และธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย รวมไปถึงวิธีการจดสิทธิบัตรของธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทซอฟแวร์ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนยังได้มีความเห็นร่วมกันในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยจดสิทธิบัตร เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนดัชนีชี้วัดของประเทศด้านดิจิทัลให้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ทางสภาดิจิทัลฯ ยังมีแนวทางในการจัด workshop เพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการจดสิทธิบัตรแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อไปในอนาคตอีกด้วย

โดยกิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจสภาดิจิทัลฯ “พันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก” มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาคพร้อมระบบนิเวศที่ครอบคลุมของโลก โดยมีตัวชี้วัด High-tech patents grants ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นอันดับที่ 47 ของโลก นอกจากนี้ สภาฯ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมผลักดันกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป