news
สภาดิจิทัลฯ ขับเคลื่อนการลงทุนเชิงบูรณาการ เดินหน้าจัดประชุมออนไลน์ระดมข้อคิดเห็นผู้ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนไทย (Venture Capital) ส่งเสริมมาตรการระดมทุน Crowdfunding เตรียมเสนอภาครัฐ ผลักดันนโยบายกระตุ้นการลงทุน พาไทยก้าวสู่การเป็นประเทศอันดับหนึ่ง
19 Feb 2021

คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานและประธานพันธกิจงานโครงการพิเศษสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ได้มีการจัดประชุมออนไลน์ระดมข้อคิดเห็น แนวทาง ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล แก่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยมีการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ทางสภาดิจิทัลฯ ได้มีโครงการระดมเงินทุนเพื่อกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางด้านดิจิทัล เป็นจำนวนกว่า 23 กองทุน โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐเพื่อยกระดับการลงทุนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล รวมไปถึงการดึงดูดนักลงทุน ให้เข้ามาลงทุน เทียบกับประเทศชั้นนำของโลก โดยการประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางสภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย และนำเสนอนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนการลงทุนให้กับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ มีตัวแทนกลุ่มบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ Openspace Ventures หนึ่งในผู้ลงทุนใน Gojek ผู้ให้บริการ Service Platform รวมถึงเป็นผู้นำลงทุนใน Startup ไทย อย่าง Finnomena, 500 TukTuks เป็นกองทุนของ 500 Startups ของไทย และ Krungsri Finnovate บริษัทสนับสนุนและลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาคในเครือกรุงศรี เป็นต้น โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องนโยบายส่งเสริมบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยเฉพาะโครงสร้างกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจ และการสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้ทัดเทียมสากล


ทั้งนี้ มีการหารือในประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ การลดหย่อนภาษีให้กับ Angel Investor สามารถนำรายจ่ายจากการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษี, ส่งเสริมการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding โดยการเพิ่มวงเงินการระดมทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับนักลงทุนรายย่อย เช่น สิทธิในการหักภาษี การยกเว้น Capital Gain Tax และการสร้างตลาดทุนรอง (Secondary market) สำหรับการซื้อขายหุ้นเริ่มต้น, การผ่อนปรนข้อจำกัดสำหรับ Venture Capital ไทยหรือต่างชาติ ที่มีสำนักงานในประเทศไทย, มาตรการของ กลต. ที่รองรับให้บริษัทจำกัดที่เป็น SME สามารถทำการออกเงินกู้แปลงสภาพ (Convertible Note) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน, การที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมจัดตั้งกองทุน PPP, สนับสนุนธนาคารในการเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยให้กับสตาร์ทอัพ เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้และลดต้นทุนของกองทุน, การดึงดูดบุคลากรชั้นนำโดยอัตราภาษีที่ดึงดูด และการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับโควตาการจ้างงานชาวต่างชาติ รวมถึง การสนับสนุนการจ้างในโครงการของรัฐ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่สตาร์ทอัพ เป็นต้น


สภาดิจิทัลฯ มีหน้าที่หลักในการรวบรวมข้อเสนอและความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมของไทย เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยต่อไป โดยก่อนหน้านี้ทางสภาฯ ได้มีการดำเนินงานร่วมกับที่ปรึกษาระดับโลก Roland Berger ในการศึกษากรณี Best Practice ที่เป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากประเทศต่างๆ และมีการประมวลผลการขับเคลื่อนการลงทุน โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ ประเทศสิงคโปร์ รวมไปถึงการประสานงานกับทางภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น BOI กระทรวงการคลัง และ กลต. ฯลฯ ในการร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน รวมทั้งการแก้ไขข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชั้นนำของโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าว


ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อเร่งนำเสนอต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิดในการผลักดันให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ในการดำเนินงาน และเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนใช้ประกอบการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป