การสร้าง soft power ของไทยเราสิ่งหนึ่งที่จะได้รับตามมาอย่างแน่นอน คือ ความเชื่อมั่นและศัทธาในชาติของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เกิด ecosystem ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
หลายต่อหลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสเขียนบทความ เป็นวิทยากรหรือได้ขึ้นเวทีเสวนา ผมมักพูดถึงเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยเราเสียโอกาส และเป็นจุดอ่อนเรื่องใหญ่มากๆ เรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่ว่าหลายสิบปีก่อนตอนที่ไทยถูกวางตัวว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเซีย หลังจากที่ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบแล้ว สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เจริญรอยตามจนประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำเหมือนกันคือการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านสินค้าและบริการให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น อุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่การสร้างนวัตกรรม การสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้คน นับเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และแทบไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักร หรือสินทรัพย์มากมายนัก แต่กลับสร้างมูลค่าได้มหาศาล เช่น Facebook, LINE, Alibaba, Amazon, Grab, Uber, Airbnb เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Alibaba ซึ่งเป็นยูนิคอร์นรายแรกๆ ของจีนและมีส่วนทำให้จีนก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในด้าน e-Commerce และ Grab ยูนิคอร์นรายแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถ Taxi ซึ่งต่อมาเริ่มก้าวเข้าสู่การให้บริการอื่นๆ อีกมากมายจากฐานลูกค้านับร้อยล้านคนที่มีอยู่ เช่น การให้บริการสินเชื่อ เป็นต้น ผู้พัฒนา Grab เป็นคนมาเลเซีย ก่อตั้งบริษัทในประเทศมาเลเซียแล้วไประดมทุนที่ประเทศสิงคโปร์จนเติบโตก้าวกระโดด อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Gojek ผู้พัฒนาเป็นคนประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Grab ซึ่งตอนนี้ Gojek เองก็กำลังเติบโตไล่ตามหลังต้นแบบมาอย่างรวดเร็วเกินคาดจนกลายเป็น Super App และจัดว่าเป็นยูนิคอร์นอีกตัวในโลกสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรา ที่ต้องเขียนถึง Grab และ Gojek เพราะทั้งสอง Super App นี้พัฒนาโดยคนในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเทียบเปรียบในแง่ไหนก็ถือว่าเป็นคู่แข่งที่คู่คี่สูสีกันมาตลอด
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดภาวะการณ์ปรกติใหม่ (New Normal) ขึ้น การใช้ชีวิตปรกติถูกเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากและแน่นอนว่าผู้บริโภค หรือแม้แต่ผู้ประกอบการเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ หลายๆประเทศใช้โอกาสนี้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น โดยรัฐบาลให้การสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์พัฒนาโปรโตคอลในการเก็บข้อมูลบุคคลที่อาจมีการสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยใช้เทคนิคบลูธูทชื่อว่า Tracetogether (https://www.tracetogether.gov.sg/), ประเทศเวียดนามมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบเดียวกับ Zoom หรือ Microsoft Team ชื่อว่า Zavi (https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-first-online-meeting-platform-zavi-launched-20383.html) โดยที่รัฐบาลส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้งานระบบดังกล่าว ซึ่งเชื่อแน่ว่าหลังจากนี้ต่อไปอีกไม่นานทั้งสองแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มนี้จะสามารถต่อยอดและมีส่วนที่จะก่อให้เกิด ecosystem ในอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน แต่หากมองกลับมาที่ประเทศไทยเรา ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้พยายามสร้างแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มขึ้นมาเช่นกัน บางแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างดี เพียงแต่สิ่งที่ทำอาจไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาส่ิงใหม่ๆ ซึ่งสามารถต่อยอดอะไรได้ในภายหลัง หากภาครัฐให้การสนับสนุนเช่นเดียวกันนี้กับแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต ที่ทั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือหน่วยงานอื่นๆ จัดทำขึ้น เชื่อแน่ว่าจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิด ecosystem และการจะทำให้เกิด Economy of Scale จะอย่างไรก็จำเป็นต้องมีภาครัฐมาร่วมให้การสนับสนุน ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วมากมายเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทราบดี ตอนนี้ยังไม่สายที่จะใช้แนวทางเดียวกับประเทศเหล่านี้ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นสร้าง Brand ไทย สร้างความเชื่อมั่นให้ภาครัฐและเอกชนในประเทศเชื่อว่าคนไทยเองก็ไม่ด้อยกว่าใคร สินค้าเราเอง เทคโนโลยีของเราเองก็ไม่ด้อยกว่าชาติอื่น
ผู้อ่านคงสงสัยว่าที่เขียนมานี้เกี่ยวอะไรกับหัวข้อเรื่องที่ได้พูดถึงเรื่อง soft power ผมกำลังจะเล่าให้ฟังดังนี้ครับ ขอเริ่มจากความหมายของ soft power กันก่อน soft power (อํานาจละมุน หรือ อํานาจแบบอ่อน) หมายถึงอํานาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจ พร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป อํานาจในลักษณะนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าอํานาจแบบแข็ง (hard power) หรืออํานาจเชิงบังคับอย่างอํานาจทางทหาร Joseph Nye นักวิชาการชั้นนําที่เสนอกรอบแนวคิดนี้ได้ระบุว่า soft power ประกอบไปด้วย ทรัพยากรสําคัญ 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยม (values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy) ในกรณีของสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่ามีทรัพยากรเชิง soft power ที่เข้มแข็ง อาทิ วัฒนธรรมที่เสนอผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการค้าเสรี เป็นต้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ได้จัดการสัมมนา ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ soft power ของไทย: บทเรียนจากจีน ญีปุ่น และเกาหลีใต้สู่การประยุกต์ใช้ของไทย” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยตลอดจนนําเสนอบทเรียนการดําเนินนโยบาย soft power ของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อันจะสามารถนําไปสู่การประยุกต์ใช้เชิงนโยบายที่เกี่ยวกับ soft power ของไทยได้ (ผู้สนใจสามารถหาอ่านเนื้อหาโดยละเอียดได้ที่ http://aseanwatch.org/wp-content/uploads/2018/10/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2-soft-power-revised.pdf ) และเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “THE BIRTH OF KOREAN COOL” เขียนโดยคุณ EUNY HONG ซึ่งตีแผ่แผนการในการสร้าง soft power ของเกาหลีใต้ จากประเทศที่ผู้บริโภคไม่กล้าใช้ข้าวของเครื่องใช้หากของชิ้นนั้นติดป้ายว่า Made in Korea ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี กลับกลายเป็นว่าผู้ใช้มือถือทั่วโลกใช้มือถือยี่ห้อ SAMSUNG ของเกาหลีมากกว่า iPhone ของสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการสร้าง soft power ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำครับ ประเทศญี่ปุ่นก็ทำและทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนตอนนี้ประเทศเวียดนาม และสิงคโปร์เองก็กำลังดำเนินการอยู่
การสร้าง soft power ของไทยเราสิ่งหนึ่งที่จะได้รับตามมาอย่างแน่นอน คือ ความเชื่อมั่นและศัทธาในชาติของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เกิด ecosystem ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเมื่อมีคนใช้งานก็ย่อมจะเกิดการพัฒนาต่อยอด เกิดการสร้างงาน จ้างงาน เกิดการเรียนรู้ กล้าทดลองคิดสร้างสิ่งใหม่ๆ เมื่อถึงตอนนั้นเราคงได้เห็น Brand ไทยที่มีเทคโนโลยีก้าวล้ำเหมือนอย่าง SAMSUNG หรือ HUAWEI ได้ นอกจากนั้นการที่เราลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศก็จะทำให้เงินทองไม่ไหลออก เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศ ซึ่งส่งผลทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจ และถ้าถามว่าเราจะสร้าง soft power ได้เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ทำบ้างหรือไม่ คำตอบคือทำได้แน่นอนครับ และน่าจะใช้เวลาน้อยกว่าที่เกาหลีใต้สร้างด้วย เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่เอื้ออำนวยในการสร้างไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่มวยไทยที่ตอนนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นต้น ด้วยพื้นฐานเหล่านี้แหละที่เป็นต้นทุนให้เราสร้าง soft power ได้ง่ายกว่าประเทศอื่นอีกหลายๆ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้มองเห็นแล้วคือการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศแอปพลิเคชั่น Food Delivery สัญชาติไทย เพื่อคนไทย (https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/robinhood.html?payroll-solutions) ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ผู้ค้าเองซึ่งในเบื้องต้นคงเป็นกลุ่มลูกค้าของ SCB เป็นหลัก ได้มีทางเลือก ลดค่าใช้จ่ายและการไหลออกของเงินไปสู่แพลตฟอร์มต่างชาติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมดิจิตอลของไทยอย่างแน่นอน สู้ต่อไปครับผมเชื่อว่าคนไทยทำได้และมันคงไม่นานเกินรอแล้วครับ
บทความโดย
นรัตถ์ สาระมาน
กรรมการ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย