ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เจอกับปัญหามากมาย ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน ข่าวปลอมแพร่ระบาด หรือแม้กระทั่งเกิดการกักตุนสินค้า เช่น เจลล้างมือและหน้ากาก จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายพยายามที่จะแก้ปัญหา ช่วงเวลาที่ยากลำบาก ล่าสุด ก็มีข่าวที่น่ายินดีว่านักวิจัยไทยจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้น 3 นวัตกรรมรับมือไวรัสโคโรนา และภัยพิบัติจากสารเคมี หรือกัมมันตรังสี ที่พร้อมนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างได้ผล
หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight ลดความเสี่ยงติดเชื้อ ให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างได้ผล
เมื่อมีกระแสโรคระบาดเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนเป็นวงกว้างแล้ว ยังส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำหน้าที่กันเต็มกำลังเพื่อรักษาผู้ป่วย และเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้รู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายด้านมีความขาดแคลน ดังนั้น นี่เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้นักวิจัยพยายามจะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับแพทย์ในการทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้มากที่สุดด้วย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อมูลอัปเดตเรื่องความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในบริบทของประเทศไทยว่า
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จากการกระจายตัวบุคลากรด้านการแพทย์ในหลายพื้นที่ ทำให้อัตราส่วนจำนวนบุคลากรทางด้านการแพทย์ต่อประชากรทั้งหมดค่อนข้างต่ำ เฉลี่ย 0.393 คนต่อประชากร 1000 คน โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดอย่างการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยิ่งทำให้รู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ไทยยังขาดแคลน ในฐานะนักวิจัยจึงต้องการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระแพทย์พยาบาล ตลอดจนมุ่งพัฒนายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้นด้วย”
ทางทีมวิจัยคณะวิศวะมหิดล จึงได้พัฒนา หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) ขึ้น เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากคนไข้อย่างได้ผล
โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์นี้สามารถทำงานร่วมกันได้มากกว่าหนึ่งตัวเพื่อตอบสนองคำสั่ง ในการตรวจสอบข้อมูลการทำงานในเชิงดิจิทัลในรูปแบบของการทำงานหุ่นยนต์ เช่น เวลาการบังคับของผู้ใช้งาน การระบุตำแหน่งหุ่นยนต์ที่มากกว่าหนึ่งตัวในระบบควบคุม
นอกจากนั้น ตัวระบบจะอาศัยแพทย์หรือพยาบาลเฉพาะตอนที่ให้คำปรึกษากับคนไข้ผ่านตัวหุ่นยนต์ ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล เช่น วัดชีพจร วัดความดันเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น และส่วนกลางของตัวหุ่นยนต์ออกแบบเป็นช่องเก็บของ ช่วยลำเลียงยาและวัสดุไปยังคนไข้ ในส่วนของการติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์กับตัวผู้ใช้งาน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงการใช้งานของหุ่นยนต์ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยทำให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถดาวโหลดและเข้ารหัสกับตัวหุ่นยนต์ ด้วยการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ผ่านระบบติดต่อไร้สาย ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และยังสามารถแสดงผลจากตัวหุ่นยนต์มาได้เสมือนอยู่ในสเตชั่นควบคุมหุ่นยนต์ด้วย
ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอม เรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา
ผู้คนยุคนี้ไม่ใช่แค่ต้องสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากลัวเท่านั้น เพราะผู้คนยังต้องสู้กับข่าวปลอม หรือ Fake News ที่จ้องจะปั่นประสาทให้เกิดความหวาดกลัวเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยความตระหนักในภัยจากข่าวปลอมนี้เอง ที่ทำให้ ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ ร่วมกับ ผศ.ดร.นริศ หนูหอม และ ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ผู้ร่วมวิจัย จากภาควิชาเดียวกัน คิดค้น ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขึ้น
ที่ผ่านมา เพื่อความถูกต้องของข่าวสาร รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand ขึ้น โดยจากการมอนิเตอร์และรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2563 พบว่า มีจำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 7,587 ข้อความ แต่ต้องตรวจสอบยืนยัน (Verify) ถึง 160 ข้อความ โดยพบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรงมีทั้งหมด 26 เรื่อง แบ่งเป็นข่าวปลอม 22 เรื่อง และข่าวจริงมีเพียง 4 เรื่อง เท่านั้น
ดังนั้น ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถยับยั้งข่าวปลอมที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ไปอย่างรวดเร็วได้ ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับข่าวปลอม ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบข่าวสารที่แชร์บนโลกออนไลน์ และเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
โดยกลไกการทำงานของ AI ระบบตรวจจับข่าวปลอม จะดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น Facebook ทางการของหน่วยงาน โดยจะดึงข้อมูลส่วนเนื้อความ วันที่ เวลา ช่วงระยะเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืน ซึ่งจะใช้เป็นตัวแบ่งข้อมูล จากนั้นทำการประมวลผลข้อความที่ดึงมาได้ในแต่ละวันเวลา แล้วสกัด Name Entity ออกมา เพื่อหาคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เฝ้าระวัง พื้นที่พบผู้ต้องสงสัย เป็นต้น
เมื่อมีฐานข้อมูลแล้ว การทดสอบโพสต์ในสื่อออนไลน์ ทำโดยการสกัด Name Entity จากข้อความ และค้นหาโดยใช้คำเหล่านั้นเป็นฐานข้อมูล ในส่วนที่เป็นวันที่วันเดียวกันกับวันที่ของบทความ หากพบข้อความที่มีความหมายสอดคล้องกันในฐานข้อมูล ก็แสดงว่าบทความนั้นไม่ใช่ข่าวปลอม เพราะมีเนื้อความที่สอดคล้องกันกับฐานข้อมูล แต่หากไม่พบข้อความที่สอดคล้องกันเลย บทความดังกล่าวจะเป็นข่าวปลอมนั่นเอง