news
สภาดิจิทัลฯ เปิดเวที Clubhouse ร่วมเสวนาในประเด็น "Skills ที่ตลาดต้องการในยุคดิจิทัล" เผยทักษะสำคัญที่ต้องปรับตัว หากอยากประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล
16 Mar 2021

วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 สภาดิจิทัลฯ ได้จัดงานเสวนาใน Clubhouse Application หัวข้อ "Skills ที่ตลาดต้องการในยุคดิจิทัล" ซึ่งเป็นการร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นในประเด็น แนวโน้มทักษะการทำงานที่ตลาดแรงงานต้องการในปัจจุบัน และยังคงมีความสำคัญในอนาคต โดยประเด็นการเสวนาได้มุ้งเน้นในเรื่องของทักษะที่จำเป็นทั้งทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) ในตลาดแรงงานยุคใหม่ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การใช้เทคโนโลยี การควบคุมอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น เป็นต้น เทรนอาชีพด้านดิจิทัลที่ตลาดแรงงานต้องการ การปรับตัวของระบบการเรียนการสอนและหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงรูปแบบหลักสูตรในการรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มุมมองของสถาบันการศึกษาภาคเอกชน ในการปรับตัวเพื่อรองรับกับ Skill ในอนาคต การเตรียมความพร้อมในการสร้างทักษะให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอาชีพต่างๆ เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมดิจิทัล มุมมองและวิสัยทัศน์ในการ Reskill ของผู้ที่จบการศึกษาด้านอื่น ให้สามารถมีทักษะและอาชีพด้านดิจิทัลได้ รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่สาขาอาชีพด้านดิจิทัล โดยมีผู้ร่วมวงสนทนา ได้แก่ คุณเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานและประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ สภาดิจิทัลฯ ดร.เมธวิน กิติคุณ คุณปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลฯ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ คุณอรดา วงศ์อำไพวิทย์ ผู้ช่วยประธานสภาดิจิทัลฯ และหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สภาดิจิทัลฯ อีกทั้งยังมีนักวิชาการและผู้คร่ำหวอดในวงการด้านการศึกษา มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ได้แก่ ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.) รศ.ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง และดร. ผาณิต เสรีบุรี CEO บริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังมีการแสดงข้อคิดเห็นในประเด็นการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวในการสร้างทักษะให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอาชีพต่างๆ เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคต โดยมีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมสอบถาม และแสดงความคิดเห็นในมิติต่างๆ อาทิเช่น การปฎิรูประบบและหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไทย เพื่อเปลี่ยนไปในรูปแบบ Lifelong Learning ความท้าทายในการปรับตัวบทบาทของสถาบันการศึกษาในการผนึกร่วมกันระหว่างภาควิชาการ และภาคการปฎิบัติ รวมถึงสถานศึกษาควรมีการปูพื้นฐานในการให้ความรู้แก่บุคคลากรเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่อาชีพด้านดิจิทัล โดยการพัฒนาทักษะ Hard / Soft Skills ที่สำคัญ อาทิเช่น ทักษะการปรับตัว (Adaptive skill) การทำงานเป็นทีม เรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ทักษะการแก้ปัญหาเชิงปัญญา (Cognitive Ability) ทักษะของผู้นำ (Leadership Skills) ทักษะเฉพาะทาง (specialist skill) การมีส่วนร่วมในการกล้าแสดงออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทักษะในการผสมผสานทั้ง Soft skill และ Hard Skill ได้แก่ การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Mindset) ประกอบด้วยวิธีคิด ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรม ความสามารถวิเคราะห์แม่นยำในการเปลี่ยนแปลงอนาคต รวมถึงการคิดวิเคราะห์เพื่อก้าวไปข้าวหน้า (Forward Thinking) เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนเสริมให้การพัฒนา Skill สมบูรณ์แบบ รวมถึงการผสมผสานและความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง Generation เพื่อปรับตัวก้าวสู่ยุค Lifelong Learning อย่างแท้จริง

ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.) กล่าวเสริมในประเด็นการ Transform ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ว่าจากสถานการณ์โควิด ได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้อง Transform ในรูปแบบ Lifelong learning และให้ความสำคัญกับทักษะความสามารถต่างๆ เช่น ด้าน IT และ Programing อีกทั้งมหาวิทยาลัยควรทำลายอุปสรรคระหว่างผู้สอนและผู้ปฎิบัติโดยส่งเสริมผู้ที่ปฎิบัติจริงมาสอนในมหาวิทยาลัย โดยทางสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.) ได้ร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ในการร่วมกันพัฒนา Digital Platform เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ข้ามสถาบัน โดยสามารถเลือกเรียน Content ที่ต้องการได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมให้ความรู้และแนะนำการเรียนรู้ในสถานศึกษาทั้ง 70 แห่งภายใต้สสอท. นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมครูอาจารย์ให้เป็นโค๊ชที่สามารถแนะนำนักศึกษาให้มีการเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ เพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้มีการสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามา Disrupt รูปแบบการทำงานต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การพัฒนา Skill ให้ทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาดิจิทัลฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต จึงเปิดเวที Clubhouse ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแชร์ความรู้ และประสบการณ์ของผู้ที่คร่ำหวอดในด้านการศึกษาของไทย มาร่วมกันถกในประเด็นอาชีพและ Skill ที่ตลาดต้องการในยุคดิจิทัล และการพัฒนาทักษะเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ ยังมีพันธกิจหลักในการเป็นองค์กรกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการนำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสากรรมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าว


B09773C0-AE43-4399-BE3A-0DC2E07CF3C2