15 กันยายน 2564 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2021 (SITE 2021) ในรูปแบบ Virtual Forum และการจัดแสดงกิจกรรมอีเวนต์ออกบูธเสมือนจริงผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมมอบรางวัล Prime Minister Award ให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในงานได้จัดเวทีเสวนาที่รวบรวมสุดยอดสตาร์ทอัพ นวัตกรชั้นนำของเมืองไทย และวิทยากรชื่อดังทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ กว่า 60 คน มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2564 ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th
ในโอกาสนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ DeepTech Ecosystem: Opportunities, Challenges and its value to Thailand Economy ระบบนิเวศเทคโนโลยีเชิงลึก : โอกาส ความท้าทายและการสร้างคุณค่าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ว่า เทคโนโลยีขั้นสูงหรือ Deep Tech จะก้าวเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกระดับมหภาคได้ ซึ่งตามสถิติประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศล้วนมีปัจจัยหลักมาจากการมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีด้านใดด้านหนึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ สำหรับประเทศไทยการเข้าสู่เทคโนโลยีเชิงลึกได้จะต้องเร่งสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการลงทุน วิจัยและพัฒนา โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่เรื่อง "คน" ผ่านการจัดการศึกษาพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัยปรับการเรียนการสอนใหม่ให้ครูเป็นผู้แนะนำ ส่งเสริม และให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน และอภิปรายด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาสำคัญคือ สร้างให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมีจินตนาการ (Imagination) ในการมองถึงอนาคตเพื่อสร้างสรรค์ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ทำให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆผ่าน Food tech, Bio Tech, Genomic tech และ Space Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ที่ต้องมีการใช้จินตนาการและนวัตกรรมขั้นสูงมาขับเคลื่อน
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี คือการสร้างพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่นในบอสตันและซิลิคอนวัลลีย์ขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้คนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกมารวมตัวกัน นอกจากนี้สิ่งสำคัญจะต้องมี "ทุน" เข้ามาในระบบ ซึ่งการมีนโยบายและมาตรการทางภาษีต่างๆที่เอื้อให้กองทุนในระดับนานาชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ และฮ่องกง จะช่วยพัฒนาและยกระดับ Tech Startup ไทยให้ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆที่อาจจะเป็น Game Changing ทางด้านเทคโนโลยีได้ ซึ่งเมื่อทุนเข้ามาจะช่วยให้เกิดชุมชนเทคโนโลยีเป็นฮับ หรือคลัสเตอร์สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีในประเทศไทยที่มีคนเก่งมีศักยภาพมาเริ่มสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดไปถึงเทคโนโลยีเชิงลึกต่อไป ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดคือ โมเดลพัฒนานวัตกรรมของจีนที่ภาครัฐส่งเสริมให้รวมเมืองใหญ่ใกล้เคียงมาพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ด้าน Innovation Hub ตามภูมิภาคต่างๆ
นายศุภชัย กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีด้วยการดึงคนและทุนเข้ามาช่วยสตาร์ทอัพได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจะมีส่วนช่วยให้เกิด Deep Tech ขึ้นมา หากเราไม่มีระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ดี ไม่มี Innovation Center ไม่มีมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง อาจทำให้บริษัทเทคโนโลยีเลือกไปลงทุนที่ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์หรือเวียดนามแทน เพราะโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านเทคโนโลยีของเราไม่สูงพอ
“โจทย์สำคัญคือทำให้ไทยเป็น Innovation Hub ให้ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยของเราเข้มแข็งในด้าน Science & Technology ระดับโลก โดยต้องตระหนักถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า วันนี้ได้เปิดให้เขาได้มีจินตนาการ ได้ให้ทุนและให้โอกาสเขา ได้สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี และนำประเทศของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสู่จินตนาการได้หรือไม่” นายศุภชัยกล่าว
ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยควรสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน Space Tech ผลักดันให้เกิดการคิดนอกกรอบจะทำให้พื้นที่นวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างมหาศาล โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านอาหารและ Healthcare ซึ่งอาจเป็นการศึกษาวิจัยในเรื่องการสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งอาหารและสุขภาพให้กับมนุษย์อวกาศ โดยปัจจุบันปริมาณการลงทุนในเทคโนโลยี Space Tech ทั่วโลก ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน และฝรั่งเศส ที่ลงทุนด้านนี้ราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งประเมินแล้วประเทศไทยเองมีศักยภาพในการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมด้าน Space Tech ได้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนสู่อนาคตที่แท้จริง โดยสามารถจัดสรรงบประมาณปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ก็จะทำให้ประเทศไทยอยู่ใน Top 10 ประเทศที่ลงทุนด้าน Space Tech ในระดับโลกได้