news
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) กฎหมายลำดับรอง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ยกระดับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
15 Jun 2022

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดย ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล ร่วมกันประชุมออนไลน์คณะกรรมการสภาฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ชุดที่ 2 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ,กระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และหลักเกณฑ์มาตรการบังคับและพิจารณาลงโทษทางปกครอง โดยสภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการสภาฯ และนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป


ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า เนื่องด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะมีผลเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.. 2565 และทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมทั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานมีความมุ่งหวังที่จะให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น จึงมีการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อใช้ดำเนินงาน โดยที่ผ่านมาสภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมให้ความคิดเห็นและนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน ในครั้งนี้จะการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ชุดที่ 2 จำนวน 3 ฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การรับเรื่องร้องเรียนกรณีละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงบทบัญญัติที่เป็นโทษทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะพิจารณาและให้ความคิดเห็นต่อไป


จากการประชุมระดมข้อคิดเห็นในครั้งนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและถี่ถ้วน พร้อมทั้งสรุปข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ชุดที่ 2 จากคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มจำนวนกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถรองรับงานและมีความเชี่ยวชาญครบถ้วน ทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี สังคม หรือด้านอื่น ๆ การพิจารณากำหนดแนวทางการสรรหาและการได้มาซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้ชัดเจนและโปร่งใส การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้ชัดเจน และควรรายงานการดำเนินการต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้รับทราบด้วย


ทั้งนี้ ในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียน นอกจากขอรับสำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ระบุตัวบุคคลของทางราชการ เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลผู้ร้องเรียนแล้ว เห็นว่าควรขยายไปถึงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่ได้รับรองจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบข้อร้องเรียนกรอบระยะเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนเสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อพิจารณาและกำหนดโทษปรับทางปกครองโดยมีความเห็นจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประกอบการพิจารณา เพื่อให้กระบวนการร้องเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม