ผลงานรัฐบาลออกกฎหมายยกเว้น Capital Gains Tax ตามข้อเสนอสภาดิจิทัลฯ ล่าสุดสภาดิจิทัลฯ ขอบคุณพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมผลักดันจนสำเร็จเชื่อมั่นช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เตรียมโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตั้งเป้าหมายกว่า 300,000 ล้านบาทภายในปี 2568 จ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 – สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยแสดงความชื่นชมรัฐบาลและขอบคุณพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมผลักดันกฎหมายยกเว้นภาษี
Capital Gains เป็นเวลา 10 ปี
แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทยจนสำเร็จ โดยเมื่อ 14
มิถุนายน 2565 รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.)
ยกเว้นภาษี Capital Gains เป็นเวลา 10 ปี
ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการรวมพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
เพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนสู่วิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพได้มากขึ้น
คาดกระตุ้นการจ้างงานทักษะดิจิทัลขั้นสูงในประเทศ 500,000
ราย ดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยกว่า 10,000 ราย
เชื่อมั่นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาทในปี
2568 เร่งเดินหน้าโรดโชว์และกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนกลุ่มเป้าหมายทั้งไทยและต่างประเทศ
รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพทันที
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ ขอขอบคุณพันธมิตรทุกรายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
อาทิ กรมสรรพากร
กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)ภาคธุรกิจเงินร่วมลงทุน
และนักลงทุนรายบุคคล และบริษัทเทคโนโลยีและ Startup ไทยกว่า 20 บริษัทที่ได้ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพจนสำเร็จเป็นรูปธรรมในวันนี้
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน
อาทิ สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก
นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตแข็งแกร่งสู้กับประเทศอื่นได้
และยังเป็นโอกาสที่ดีในการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาร่วมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจไทยโดยตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ
20 ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย มั่นใจจะมีจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่ง
และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ เตรียมวางแผนเดินหน้ากระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย
โดยเตรียมออกโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ
นอกจากนี้เตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ
เพื่อเป็นแหล่งในการให้คำปรึกษาตอบคำถาม
ทั้งช่วยประสานงานกับภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำข้อมูลและคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
เป็นต้น และสิ่งท้าทายสำคัญคือการระดมสรรพกำลัง ให้ภาคเอกชนต่างๆ
เร่งมาใช้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้ให้มากที่สุด
ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวต่อไปว่า สภาดิจิทัลฯ ยังมีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัล ให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ทั้งการลงทุนและกำลังคนในมิติอื่นๆ อาทิ Startup สามารถออกหุ้นแปลงสภาพให้แก่นักลงทุนได้, Startup สามารถออกหุ้นแก่พนักงานได้ (ESOP), การส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นใหม่สำหรับStartup และ SME ภายใต้ชื่อ LIVE EXCHANGE, ส่งเสริมการระดมทุนจากประชาชนที่อยู่ในรูปของหุ้น/หุ้นกู้ ผ่าน CROWDFUNDING PORTALที่จดแจ้งผ่านก.ล.ต. , สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะลูกจ้าง และการจ้างงานสายเทคโนโลยี, การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอบรม และค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ จะร่วมผลักดันมาตรการเหล่านี้ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งจะเป็นตัวแทนรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และสะท้อนให้เกิดการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อไป