news
สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง สดช. ร่วมลงนาม MOU เร่งเครื่องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของประเทศ เตรียมเปิดตัวโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์
14 Oct 2022

สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง สดช. ร่วมลงนาม MOU เร่งเครื่องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของประเทศ เตรียมเปิดตัวโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์  ตั้งเป้าสร้างกว่า 250 เทรนเนอร์แก่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนให้ทั่วถึงและมีมาตรฐานทัดเทียมทั่วโลก


12 ตุลาคม 2565 – นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และนางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สภาดิจิทัลฯ และ สดช. ในการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรของประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์และประชาสัมพันธ์หลักสูตร e-Learning ส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรวมทั้งแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านดิจิทัลพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของประกาศนียบัตรเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศรวมถึงร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรสำหรับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและเฉพาะทางรวมถึงการรับรองหลักสูตรดังกล่าวร่วมกัน โดยได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างเทรนเนอร์แก่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศกว่า 250 คน เพื่อเป็นบุคลากรประจำที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดการเรียนรู้ พร้อมสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนให้ทั่วถึง นำไปสู่ความมีมาตรฐานทัดเทียมทั่วโลกต่อไป โดยจะเริ่มที่องค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อน


สำหรับองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมุ่งเน้นที่การสร้างและพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปยังทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการและโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปที่อาจยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องหลัง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา 


นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการ สดช.  เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกองค์กร ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัวหลาย ๆ ด้าน ในรูปแบบการทำงาน New Normal ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเผชิญกับโลกการแข่งขันและการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทรัพยากรบุคคลขององค์กรมีความสำคัญยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะ Upskill/ Reskill ให้บุคลากรในองค์กรสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ เป็นคนที่รู้รอบด้าน พร้อมเพิ่มทักษะใหม่ ๆ รวมทั้ง  Soft skill  เพราะตลาดงานในอนาคตจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในหลายด้านครอบคลุมมากขึ้น สามารถทำงานแบบเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็วกว่า ภายใต้ต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทน.สดช. มีความมั่นใจที่จะให้การสนับสนุนร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศที่สำคัญในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน มีผู้เชี่ยวชาญครอบคลุมในทุกภารกิจด้านดิจิทัล โดย สดช. จะสนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์และประชาสัมพันธ์หลักสูตรการส่งเสริมพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนบุคลากร ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรสำหรับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและเฉพาะทาง รวมทั้ง การรับรองหลักสูตรด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาทักษะของกำลังคนสอดคล้องกับตลาดแรงงานเพื่อยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของบุคลากรและผู้ประกอบการของไทย และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้”


นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในการลงนาม MOU ครั้งนี้สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการเดินหน้าผลักดันนโยบายหรือแนวทางด้านดิจิทัลต่างๆ  โดยที่ผ่านมาสภาดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเดินหน้าเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และสร้างการมีโอกาสในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาโดยตลอด อย่างเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สภาดิจิทัลฯ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ของสภาดิจิทัลฯ  อาทิ  รายการ DCT Digital Future Talks, อินโฟกราฟิก (Infographics) และการสัมมนาร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นต้น และนอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในอีกหลายด้าน อาทิ  

  • การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษผ่านโครงการและแพลตฟอร์มบน DCT Digital U โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ เช่น สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)
  • การส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ตามมาตรการสร้างแรงจูงใจ Thailand Plus Package โดยมีผลักดันให้มีการตั้งเป้าหมายของประเทศในการมีบุคลากรที่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ถึง 6% ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
  • การผลักดันมาตรการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ Laptop ร่วมกับภาครัฐต่าง ๆ เช่น สำนักงาน กสทช. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการคลัง เป็นต้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 กันยายน 2565
  • ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชนและกำลังคนของประเทศเช่น สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) และสภาการศึกษา เป็นต้น


ซึ่งความร่วมมือกับ สดช. ในครั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มีหน้าที่หลักในการช่วยพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร e-Learning ขึ้น โดยเน้นนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้องค์กรและประชาชนสามารถใช้ข้อมูลในทางที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล


“การผนึกกำลังร่วมกันครั้งนี้เป็นอีกความร่วมมือของ สภาดิจิทัลฯ และ สดช. ในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ โดยมีขอบเขตความร่วมมือใน3ด้านสำคัญ คือ 1) ความร่วมมือกันในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์และประชาสัมพันธ์หลักสูตรe-Learning 2) ความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านดิจิทัลในการดำเนินโครงการและ 3) ความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่ทั้งสององค์กรมีอยู่ร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในภาพรวมอีกด้วย” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในตอนท้าย