news
“ลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีสัมมนาโครงการ “การพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลของผู้ใช้งาน SMEs และ Startup” ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างตรงจุด เร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน
7 Feb 2023

วันอังคารที่ 31 มกราคม 2566, ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านงานโครงการพิเศษ ร่วมเป็นวิทยากรในเวทีสัมมนาโครงการ “การพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลของผู้ใช้งาน และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)” ร่วมกับ “ดร.สรวิชญ์ เปรมชื่น” ผู้จัดการโครงการ “นายอาคม ศุภางค์เผ่า” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ส่วนภูมิภาค “นายจิรกร สุวงศ์” ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนฯ และ “นายบุญชู สมบูรณ์ศักดิกุล” กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, รองประธานกลุ่มฯ สมุนไพร เทคโนโลยีชีวภาพ , คณะทำงาน Startup โดยมี “ผศ.ดร.ไพฑูรย์ เจตธำรงชัย” หัวหน้าโครงการ คณะบริหารธุรกิจ ผู้รับมอบโครงการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน ชี้แจงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ






สำหรับโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การส่งเสริม และสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมอบให้คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของประชาชน ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงพัฒนาธุรกิจ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง




“นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณกองทุน กทปส. กสทช. และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดโครงการพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแก่กลุ่มผู้ใช้งาน รวมทั้ง SMEs และ Startup เนื่องจาก เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจยุทธศาสตร์สำคัญในการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล โดยอ้างอิงจาก International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งพบว่าจากการจัดอันดับ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2022 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 40 ของโลกจากทั้งหมด 63 ประเทศ และหากเปรียบเทียบในประเทศอาเซียน เราอยู่อันดับ 3 รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนั้นยังมีประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งถือได้ว่ามีศักยภาพสูงในการแข่งขันอีกด้วย ดังนั้น จากการที่ประเทศไทยมีฐานเศรษฐกิจที่ดีอยู่เป็นทุนเดิม หากร่วมกันผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างตรงจุด จะสามารถยกระดับการแข่งขันในระดับโลกได้ 




“จากตัวชี้วัดย่อยของการจัดอันดับการแข่งขันในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย พบว่า ปัจจัยที่อันดับลดลงที่น่าสนใจ เช่น ทักษะดิจิทัล/เทคโนโลยี และผู้จบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กไทย ตลอดจนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี การสนับสนุนจากสถาบันการเงินธนาคาร และ การเข้า Venture Capital (VC) มีจำนวนลดลงเช่นกัน ในส่วนของปัจจัยที่อันดับที่สูงขึ้น เช่น การส่งเสริมนวัตกรรมของไทยในด้านค่าใช้จ่าย R&D เป็นต้น นอกจากนั้น การจัดอันดับความชำนาญการใช้ภาษาอังกฤษของประเทศไทย โดย EF Enlish Proficiency Index 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 100 จาก 112 ประเทศ ถือได้ว่าไทยอยู่ในเกณฑ์ Very Low Proficiency ดังนั้นควรมีการส่งเสริมระบบจากภาครัฐในแง่ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วย SMEs และ Startup ในการแปลความรู้ทางเทคนิค (Technical Knowledge) ต่างๆ ให้เป็นภาษาท้องถิ่นที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ในด้านการเปรียบเทียบระดับความสามารถด้าน ICT กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยยังตามหลังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนในมิติของการลงทุน ยังพบว่า การลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจากต่างประเทศลดลง สะท้อนด้วยจำนวน Unicorns และ Startups ที่น้อยลงเช่นกัน”  




สภาดิจิทัลฯ จึงได้มีการร่วมผลักดันกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการออกมาตรการส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น กฎหมายยกเว้น Capital Gains Tax เพื่อดึงดูดนักลงทุนและ Startups ให้มาลงทุนที่ประเทศไทย มาตรการภาษีเงินได้ 17 % สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูงเมื่อทำงานในไทย ลดหย่อนภาษี 150 % เมื่อธุรกิจจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล รวมถึงลดหย่อนภาษี 250 % เมื่อธุรกิจอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล เป็นต้น ดังนั้น การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีตัวชี้วัดด้านดิจิทัลที่สูงขึ้นและแข่งขันได้ในเวทีโลก “นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” กล่าว




ทั้งนี้ ภายในงานชี้แจงโครงการ “การพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลของผู้ใช้งาน และกลุ่ม SMEs และ Startup” มีการจัดเวิร์กช็อปรับฟังข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานส่งเสริม SMEs และ Startup ภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญของ 4 กลุ่มผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) กลุ่มการท่องเที่ยวและบริการ 2) กลุ่มการเกษตรเชิงรุก 3) กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และ 4) กลุ่มธุรกิจการศึกษา เพื่อจัดทำแนวทางความร่วมมือในการดำเนินโครงการ รวมทั้งหารือแนวทางส่งเสริมและเพิ่มทักษะของบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม อาทิ Drone AI IoT Big Data และ 5G เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการผลิต แปรรูป และการตลาดของ SMEs และ Startup