news
สภาดิจิทัลฯ จับมือ ผู้นำองค์กรพันธมิตรภาครัฐ-เอกชนในระบบนิเวศ จัดงานยิ่งใหญ่แห่งปี “DCT Startup Connect” หนุนสตาร์ตอัปไทย ขับเคลื่อนธุรกิจตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำไปสู่การสร้างรายได้ ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยก้าวไกลสู่สากล
23 Mar 2023

วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566, ณ True Digital Park West, Unicorn Building ชั้น 3, Workshop Zone กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups และ “นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านงานโครงการพิเศษ ตลอดจน รองประธานและคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วยผู้นำองค์กรพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน “DCT Startup Connect” เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัป โดยความร่วมมือกันของพันธมิตรในระบบนิเวศ อันเป็นการส่งเสริมโอกาสสำหรับ Startup และภาคธุรกิจพันธมิตรในระบบนิเวศ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ปรึกษา รับคำแนะนำ นำไปสู่การสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยก้าวไกลสู่สากล






“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสภาดิจิทัลฯ นั่นคือ การขับเคลื่อนและส่งเสริม Startup ไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในในระดับโลก โดยการปลดล๊อกนโยบายส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการ เงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ การวิจัย พัฒนานวัตกรรมสำหรับ Startup จึงร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ จัดงาน “DCT Startup Connect” ในครั้งนี้ขึ้น



“ภาพรวมของงาน “DCT Startup Connect” คือการมุ่งเน้นให้ความรู้ และส่งเสริม Startup และ องค์กรภาคธุรกิจได้มีโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ (Match Making) เพื่อให้ Startup ได้สร้างรายได้ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และก่อให้เกิดการลงทุน โดยทางสภาดิจิทัลฯ จะมีการจัดงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้เกิด Ecosystem โดยรวมของภาครัฐ Startup VC/CVC รวมทั้ง Corporate ต่างๆ ได้มีโอกาสมาร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม Startup และอุตสาหกรรมดิจิทัล นำไปสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน"




“นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมของ Startup ด้านการเกษตร เพื่อให้ตรงความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยกล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรมที่มีเกษตรกรจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ รวมถึงช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านออนไลน์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เทคโนโลดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเกษตรไทย โดยภายในงาน “DCT Startup Connect” จึงมีการเปิดห้อง Agriculture สำหรับ Startup ที่สนใจด้านการเกษตร เพื่อมารับฟังข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อการเกษตรให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด






ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดเสวนา “9 มาตรการภาครัฐ ส่งเสริมสตาร์ตอัปและอุตสาหกรรมดิจิทัล” โดยสภาดิจิทัลฯ และ หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ “นายอัครราชย์ บุญญาศิริ” หัวหน้ากลุ่มนโยบายภาษี กรมสรรพากร “นายวรกาญจน์ โกศลพิศิษฐ์กุล” ผู้อำนวยการกองเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ “นางจุไรวรรณ ศรีเตียเพ็ชร” ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึง “นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์” ผู้ช่วยประธานและหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สภาดิจิทัลฯ ที่มาร่วมให้ข้อมูลมาตรการภาครัฐ เพื่อส่งเสริม Startup  อาทิ การยกเว้น Capital gains tax การลดหย่อนภาษี 150% หรือ สนับสนุน 50% ของค่าจ้าง งานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล การลดหย่อนภาษี 200 % เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น 





เสวนา "ภาพรวมและแนวโน้มการลงทุน สตาร์ตอัป และอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย ปี 2023" โดย "คุณธนพงษ์ ณ ระนอง" กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (เครือกสิกรไทย) และ "คุณศรันย์ สุตันติวรคุณ" นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ที่มาร่วมให้ความรู้เจาะลึกภาพรวมแนวโน้มการลงทุน เพื่อส่งเสริมศักยภาพ Startup ไทยให้มีความแข็งแกร่งและแข่งขันได้ในเวทีโลก




นอกจากนั้น ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ "โจทย์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรม และ โอกาสผู้นําภาคธุรกิจไทยทํางานร่วมกับสตาร์ตอัปไทย" โดยผู้บริหารบริษัทชั้นนำของไทยทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ Agriculture, Digital Content and Animation, Retail and Marketing Tech, FinTech and Insurance Tech และ Health Tech ประกอบด้วย "ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์" ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) "ดร.วัลลภัช แก้วอำไพ" ประธานบริหารด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด "นายวิชญะ อดิศรกาญจน์" Head of Product Strategy TrueID บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด "นายธนพงษ์ ณ ระนอง" กรรมการผู้จัดการ บริษัท Beacon Venture Capital (เครือกสิกรไทย) "นายอธิคม กาญจนวิภู" Executive Vice President Digital & Technology Transformation บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด "นางสาวนาเดีย สุทธิกุลพานิช" Executive Vice President & Head of Fuchsia Innovation Center บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) "นายพีรศักดิ์ กลั่นหอม" ผู้อํานวยการ Customer Relationship Management บริษัท ยัสปาล จำกัด "นายแพทย์ วิทิต อรรถเวชกุล" กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด มหาชน และ "แพทย์หญิง ลลิตยา กองคำ" รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ที่มาร่วมแบ่งปันให้เหล่าสตาร์ตอัป และผู้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับ Industry PainPoint หรือ โจทย์ทางธุรกิจที่ทางพันธมิตรด้านดิจิทัลจะเข้ามาช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ และ พันธกิจทางธุรกิจของสตาร์ตอัป ตลอดจนการให้ข้อมูลสตาร์ตอัปที่ตอบโจทย์ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมทุกมิติ อีกทั้งยังมีผู้แทนองค์กรธุรกิจที่มาร่วมให้คำแนะนำแก่สตาร์ตอัปทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย







ด้าน “ดร.วัลลภัช แก้วอำไพ” ประธานบริหารด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด แนะถึงสิ่งที่ภาคธุรกิจการเกษตรมองหาใน Startup ไทย คือการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น สภาพอากาศแปรปรวน ความผันผวนของราคาผลผลิต อายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่มากขึ้น โดยกล่าวเสริมว่า ตลาดและผลผลิตภาคการเกษตรมีความผันผวนเป็นอย่างมาก จึงมีความสนใจใน Startup ที่มีใจในการร่วมกันขับเคลื่อนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยอย่างแท้จริง นอกจากนั้นอยากให้คนที่มีมุมมอง นวัตกรรม และกรอบความคิดใหม่ๆ เข้ามาร่วมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้วงการเกษตรไทย




"นายธนพงษ์ ณ ระนอง" กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการ Startup ไทยมีความก้าวหน้า โดยมาตรการภาครัฐส่งเสริมสตาร์ตอัปและอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อาทิ การยกเว้น Capital Gains Tax รวมถึง การลดหย่อนภาษี 200 % เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะสามารถสร้าง Impact ที่ดีให้แก่ธุรกิจ Startup ไทย จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สภาดิจิทัลฯ ได้จัดงานในวันนี้ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุน Startup ไทย อันเป็นการสร้างการเติบโตให้แก่วงการ Startup ไทยสู่เวทีโลก






ทั้งนี้ ภายในงานยังมีห้องสตาร์ตอัปพบปะ VC/CVC เพื่อโอกาสต่อยอดการลงทุน และ ทีมงานที่ปรึกษาจากสภาดิจิทัลฯ ที่สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ 9 มาตรการส่งเสริม Startup โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ VC ผู้นำองค์กรธุรกิจ และสตาร์ตอัป ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 200 คน