วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Digital Culture พร้อมด้วย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจพัฒนาสังคมดิจิทัล ร่วมกับผู้แทนจากสภาหอการค้าไทย, สมาคมดิจิตอลคอนเทนท์บันเทิงไทย, สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย, วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลง จัดประชุมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ครั้งที่ 2 ในรูปแบบ Hybrid ต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมถึงภาพรวมการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลจากภาครัฐ โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมของกลุ่มอุตสาหกรรมเพลง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเพลงจากภาครัฐ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการประชุมได้ระดมความคิดเห็นถึงอุปสรรคต่างๆ ในอุตสาหกรรมเพลงซึ่งเป็นเรื่องที่ควรผลักดันให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ อาทิ ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนรายละเอียดข้อมูลที่อธิบายถึงความเป็นมาของข้อมูล เช่น ชื่อผู้แต่ง และชื่อเจ้าของผลงาน เป็นต้น (Metadata) รวมทั้งการวางโครงสร้าง Ecosystem ของอุตสาหกรรมเพลงให้มีความเชื่อมโยงกัน และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์อื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมเพลงอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เป็นต้น
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลง เช่น
1) การจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม Digital Content และ Soft Power ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น Korea Creative Content Agency (KOCCA) เป็นสถาบันส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากองค์กรต้นแบบที่ก่อตั้งมาก่อน
2) การนำเสนอยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายความร่วมมือของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยและระดับโลก ส่งผลให้ลดการเสียเปรียบของสมาชิกต่างๆ ในอุตสาหกรรม โดยภาครัฐเป็นผู้แบ่งปันเครือข่ายและความร่วมมือให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย
3) ความร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันแรงจูงใจสำหรับดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนไทยที่ขายผลงานให้ต่างชาติ เพื่อนำเงินเข้าประเทศ อันเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังมีการวางแผนจัดประชุมร่วมกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในภาคส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมละครและรายการโทรทัศน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการนำเสนอภาครัฐ นำไปสู่การพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป