วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย “ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธานและคณะกรรมการ ร่วมประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 4/2566 ในรูปแบบ Hybrid โดยมีวาระสำคัญประกอบด้วยการรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) สภาดิจิทัลฯ ร่วมงาน SVCA Conference 2023 จัดขึ้นโดย Singapore Venture Capital & Private Equity Association (SVCA) เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์และทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศไทย 2) ผลการจัดประชุม “Painpoints โอกาส และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรม” และ ข้อเสนอเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการจัดงาน DCT Startup Connect ครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยความร่วมมือกันของพันธมิตรในระบบนิเวศ
นอกจากนั้น ยังมีการรายงานวาระเพื่อพิจารณาโครงการต่างๆ ของสภาดิจิทัลฯ เช่น โครงการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชน โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยดิจิทัล : ระบบจัดการป่า และพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ความร่วมมือกับสมาชิกกลุ่ม Digital Content ในงาน Bangkok International Content Festival 2023 รวมทั้ง การส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบธุรกิจระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสภาดิจิทัลฯ เป็นต้น
"นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึง ภาพรวมการร่วมงาน SVCA Conference 2023 ว่าสิงคโปร์มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก โดยการสร้าง VC ในสิงคโปร์ เริ่มต้นจากที่รัฐบาลเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) โดยภาครัฐจะให้ทุนผู้ที่ตั้ง VC ในสิงคโปร์ ดังนั้น VC ที่ถูกตั้งขึ้นทั้งในสิงคโปร์ และต่างประเทศ จึงมีความ Active ในการเจาะจงมองหา Startup และ Talent ที่จะลงทุนด้วย รวมไปถึงสิงคโปร์มีการสนับสนุนการลงทุนกับ Startup ในรูปแบบ Match Fund โดยทางสมาคมและนักลงทุน VC ในสิงคโปร์ จึงสรุปว่า จุดแข็งของสิงคโปร์คือ Government Jump Start เรื่องของการลงทุนใน Tech Startup ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐไทยที่มี Incentive และความชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรม ดังเช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ภาครัฐ Subsidize รถที่นำเข้า และผลิตในประเทศ ทำให้ผู้เล่นหลักตัดสินใจเข้ามาลงทุน
“นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Startup มีความก้าวหน้า คือความทะเยอทะยาน (Aspiration) การมีแรงบันดาลใจ และ Role Model ที่จะทำให้ Startup เชื่อว่าการทำธุรกิจระดับโลกสามารถสำเร็จได้ รวมไปถึงการพัฒนา Global Talent ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเมอร์ และวิศวกรรม ซึ่งจะช่วย Jump Start และเสริมสร้าง Talent ไทย และ อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทยคือ VC Ecosystem โดยจะต้องสนับสนุนให้มี VC ที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ Startup ไทยมีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น”
นายศุภชัย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องการไปปักธงในสิงคโปร์ คือการสร้างความเข้าใจและชักจูงนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย ซึ่ง Capital Gains Tax สามารถขอเป็น 0% ได้ แข่งขันได้ รวมทั้งภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ที่อยู่ใน Tech Startup ก็จะมีภาษีที่ต่ำลงด้วย และเอกชนไทยมีความแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากการที่ประเทศไทยมีตลาดหุ้นที่เข้มแข็ง (Capital Market) โดยมีตลาด Initial Public Offering (IPO) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยมีพันธกิจยุทธศาสตร์สำคัญใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งการขับเคลื่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัลของประเทศชาติ ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมผลักดันให้เกิดนโยบาย และมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ “นายศุภชัย” กล่าว