“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อ ร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัล debt-like ICO และ infra-backed ICO ขับเคลื่อนกลไกกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจนและเหมาะสม หนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุน สู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ร่วมกันประชุมออนไลน์ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ ร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ (debt-like ICO) และ โทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) เพื่อให้กลไกการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเพียงพอและเหมาะสม สามารถคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศ
โดยสภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการสภาฯ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน 2) การกำหนดประเภทธุรกรรมในตลาดทุนที่ให้ใช้ทรัสต์ได้ 3) การกำหนดนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์เพิ่มเติม และหลักเกณฑ์การยื่นหนังสือแสดงเจตนาก่อตั้งทรัสต์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และ 4) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเป็นทรัสตีของทรัสต์สำหรับธุรกรรมการเสนอขาย โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรวบรวมนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัล debt-like ICO และ infra-backed ICO เช่น การประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการ โดยควรมีการระบุหลักเกณฑ์ของผู้ประเมินอย่างชัดเจนและมีความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาจจะส่งผลให้ต้นทุนการทำ ICO สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ความชัดเจนในเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงในภาพใหญ่ ควรจะมีกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลเรื่องการตกแต่งเพื่อดึงดูดนักลงทุนโดยที่ใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การระบุกฏเกณฑ์อย่างชัดเจนและครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงแนวคิดการเพิ่มเพดานของนักลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย เนื่องจากการจำกัดเงินลงทุนอาจจะส่งผลให้เกิดการระดมทุนได้ไม่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นต้น