news
“นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมงานแถลงข่าว ความสำเร็จโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 จัดโดย สดช.
20 Feb 2024

วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วม งานแถลงข่าวความสำเร็จโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวแถลงข่าวความสำเร็จในการดำเนินโครงการ ณ ห้องพระเอราวัณ ชั้น 2 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 


ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ได้แก่ “นายอนพัทย์ สุขเสียงศร” ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและติดตามประเมินผล สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี “นายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร “ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด “ม.ล.เทพฉัตร สวัสดิวัตน” Editor in Chief บริษัท เดอะ ซีเคร็ต ฟาร์ม จำกัด และ “ดร.ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด  


สำหรับโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจัดประชุมไปทั้งสิ้น 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน การกำหนดเป้าหมายและออกแบบนโยบายหรือมาตรการ ตลอดจนการนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้มาตรการ หรือข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  


นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ในการสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ภายใต้หัวข้อ Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล ที่มุ่งเน้นในการถ่ายทอดแฟชั่นไทย สู่รูปแบบดิจิทัล ทั้งสาขาเทคโนโลยี และสาขาสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศกว่า 60 ทีม จำนวนรวมทั้งสิ้น 287 คน  


ทั้งนี้ การดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ในระยะที่ 2 ถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของไทย และจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต