30 เมษายน 2568 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)” จัดงาน DCT Seminar หัวข้อ "AI ต่างชาติครอบงำประเทศ !? AI ของคนไทย เพื่ออำนาจต่อรองและอธิปไตยของชาติ" เพื่อเปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและหาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในประเทศ โดยมี ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค สภาดิจิทัล กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายหลักของ DCT ในการผลักดันให้ไทยเปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยี สู่การเป็นผู้สร้าง ผู้ใช้ และผู้ส่งออก โดยชี้ว่า "หัวใจของ AI คือข้อมูล" และที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการตั้งโจทย์ในการใช้ AI เพื่อแก้ปัญหาระดับชาติ ซึ่งการเริ่มต้นจากการระบุปัญหาและพิจารณาว่า AI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร จะเป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน
ประเด็นสำคัญของการสัมมนาอยู่ที่การพิจารณาถึงความจำเป็นและแนวทางการสร้าง "Sovereign AI" หรือ AI ที่เป็นของคนไทย เพื่อรักษาอธิปไตยทางเทคโนโลยีและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจ
ศ. ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานและประธานพันธกิจด้านพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ระหว่างประเทศ) สภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า Sovereign AI ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) คือการที่คนในประเทศสามารถเข้าใจและใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนา AI ได้อย่างอิสระ สามารถควบคุมและตัดสินใจเหนือระบบ AI ที่ใช้งานในประเทศได้ด้วยตนเอง โดยมีปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อ Sovereign AI ของประเทศ ได้แก่ การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ การมีขีดความสามารถในการประมวลผล (Computing Power) ที่เพียงพอต่อการใช้งานทั่วประเทศ การมีข้อมูล (Open Data) ที่นำไปใช้ได้ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น 5G รวมถึงกฎหมายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยมองว่าการสนับสนุนด้านการศึกษา มีความสำคัญสูงสุดในการสร้าง Sovereign AI ที่ยั่งยืน
ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวถึง ความจำเป็นของการมี Sovereign AI โดยชี้ว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ที่เพียงพอ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของฐานเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ภาคเกษตรกรรม ค้าปลีก และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องร่วมมือกันสร้างและพัฒนา AI ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า ประเทศไทยตกขบวนไปหลายก้าว ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก 'ผู้ใช้' ไปเป็น 'ผู้สร้าง' เทคโนโลยี เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และจำเป็นต้องสร้างฐานเทคโนโลยีของตนเอง โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ซีอีโอผู้ก่อตั้ง บริษัท iApp Technology จำกัด ให้คำนิยามของ Sovereign AI ว่าหมายถึงการที่บุคลากรในประเทศมีความรู้ความชำนาญ (Knowhow) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง ทำให้สามารถนำไปเผยแพร่และสร้างคุณค่า (Value) ให้กับประเทศได้ ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยชี้ว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้เล่นจากต่างประเทศที่สนใจจะพัฒนาโมเดลการถอดเทปภาษาถิ่นของไทย ซึ่งเป็นโอกาสให้ AI ที่พัฒนาโดยคนไทยสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าได้ ดังเช่น Botnoi Voice ที่สามารถสร้างเสียง AI ที่มีความหลากหลาย จึงเป็นจังหวะดีที่ไทยจะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง
ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่า การสร้าง Sovereign AI มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น เงิน ทรัพยากรบุคคล ความคุ้มค่า และความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยกังวลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น AI จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาธุรกิจใหม่และสร้างเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังฝากถึงคนรุ่นใหม่และผู้กำหนดนโยบายว่าต้องสนับสนุนการพัฒนา AI ภายใต้การแข่งขันที่เหมาะสม และต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนไทยได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกพัฒนา AI ที่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจของตนเอง และมุ่งมั่นที่จะก้าวทัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ตามเท่านั้น
นายทัชพล ไกรสิงขร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มบริษัท และหัวหน้าฝ่าย เอไอ แล็บส์ ของ Amity Solutions กล่าวว่า Sovereign AI มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง กลยุทธ์ในการพัฒนา AI ต้องพิจารณาจุดมุ่งหมาย เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การเพิ่ม GDP หรือการส่งออก และการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งแต่ละเป้าหมายจะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป สำหรับภาคเอกชน เป้าหมายหลักคือการสร้างรายได้และส่งออกได้ โดยต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับบริษัทขนาดใหญ่ ในเชิงนโยบายและมหภาค คุณทัชพลมองว่า การเลือกและวางกลยุทธ์สำหรับ AI เป็นสิ่งสำคัญ โดยมีแนวทางหลักคือ การนำเข้าเทคโนโลยี เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ และ เริ่มต้นสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเองโดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐ
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละภาคส่วนต่อการเปิดรับเทคโนโลยี AI จากต่างชาติ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต โดยเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากมองประเทศไทยในปัจจุบัน ไทยยังขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ดังนั้น Sovereign AI จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันเสนอแนะ "แนวทางการสร้าง Sovereign AI" เช่น การสร้างความต้องการจากภาครัฐในการใช้ AI ที่พัฒนาโดยคนไทย การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้าน Deep Tech อย่างจริงจัง การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI ของประเทศ เป็นต้น
การสัมมนา DCT Seminar ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนา AI ของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง รักษาอธิปไตยทางเทคโนโลยีของชาติ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกยุค AI