news
“สภาดิจิทัลฯ” เดินเครื่องจัดประชุมหารือครั้งแรกร่วมกับ “สสอท” หลังลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วม เตรียมผลักดันแนวทางการดำเนินงาน ตั้งเป้าส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษากว่า 2 แสนคนทั่วประเทศให้มีทักษะดิจิทัล
18 Feb 2021

18 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารสุทธิ ถนนเพชรบุรี ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และ นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานและประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้ร่วมจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใต้แผนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ สสอท. กับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ทั้งสององค์กรได้มีการลงนามความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยในการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญในเรื่องของการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง 2 องค์กร เพื่อร่วมมือกันในการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ที่มีความสอดคล้องกับตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจในการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต โดยจัดเป็นเวทีเสวนาร่วมกันระหว่างนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย สภาดิจิทัลฯ และภาคเอกชน รวมทั้งยังได้มีการร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานด้านอื่นๆ ในอนาคต เช่น การพัฒนา Platform การเรียนรู้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์, มือถือ เป็นต้น อันเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล (Reskill/Upskill) ให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด สสอท.ทั่วประเทศกว่า 200,000 คน เพื่อรองรับตลาดดิจิทัลที่เปลี่ยนไปในอนาคต


ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวคงอยู่ภายใต้แผนความร่วมมือใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1. ร่วมสร้างกำลังคนดิจิทัลศักยภาพสูง 2. ร่วมส่งเสริม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน 3. ร่วมมือในการจัดการ “การศึกษาเชิงบูรณาการ” ระหว่างการเรียนรู้ในสถาบันและการปฏิบัติงานจริง 4. ร่วมกันสร้าง Digital Platform เพื่อรองรับการจ้างงานทางด้านดิจิทัล รวมถึงการต่อยอดเรื่องการพัฒนา Platform การเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่าง สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงขึ้นที่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และแข่งขันได้ในประชาคมโลกต่อไป


โดยการดำเนินงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจสภาดิจิทัลฯ “พันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับทุกภาคส่วน อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัล ให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป