เทคโนโลยีทำให้การผลิตคอนเทนท์เป็นไปด้วยความตื่นเต้นน่าสนใจ และสามารถขยายจินตนาการของการผลิตรายการออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
เรามักคุ้นเคยกับการดูรายการ ในโทรศัพท์มือถือ แท็บเบล็ท หรือโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร เกมโชว์ สารคดี ภาพยนตร์ เรียลลีตี้โชว์ เพราะเราคุ้นเคยการโทรทัศน์มาตั้งแต่เด็ก ผู้สูงวัยคงจะคุ้นเคยกับโทรทัศน์ขาวดำ และต่อมาคงจะคุ้นเคยกับโทรทัศน์สี นั่นแสดงว่าเทคโนโลยีโทรทัศน์เป็นเทคโนโลยีแก่าแก่ที่มีมาหลายสิบปี จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา และผู้คนจะบริโภคข่าวสาร ความรู้ หรือแม้แต่วัฒนธรรมผ่านสื่อนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ดิจิทัลทีวี และสิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือพวกเรากำลังก้าวเข้ามาสู่ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างแบบก้าวกระโดด จากจอทีวี และจอภาพยนตร์ มาสู่จอบนคอมพิวเตอร์ แท็บเบล็ท หรือโทรศัพท์มือถือ จากการออกอากาศแบบกว้างกระจาย ที่เรียกว่าบรอดคาสท์ (Broadcast) มาสู่ช่องความสนใจเฉพาะกลุ่มหรือแนโรว์คาสท์ (Narrow cast) บนเคเบิ้ลหรือแซทเทิลไลท์ และในที่สุดก็นำมาสู่ความสนใจเฉพาะตัว หรือ Personal cast บนมือถือนั่นเอง
เทคโนโลยีด้านสื่อเกิดจากความรู้ด้านแสงจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์และเลขฐานสองของพื้นฐานระบบคอมพิวเตอร์ คือ 0 และ 1 ได้นำระบบ ‘อนาล็อก’ ไปสู่ระบบ ‘ดิจิทัล’ ทำให้เราได้คุณภาพที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อดิจิทัลเข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว สื่อสมัยใหม่จะมีมิติด้านการผลิตเนื้อหาและการส่งต่อยังผู้ชมอย่างมีนัยยะ เพราะมีอิทธิพลอย่างมากในการตลาด และนำส่งข้อมูลข่าวสารสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเราจะพบมิติที่ต่างออกไปอย่างมากมาย
โดยเนื้อหาของซีรี่ส์นี้ จะมี 5 ตอน ซึ่งจะเจาะถึงการผลิตสื่อโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถก้าวตามทันโลกในการสร้างมีเดียและคอนเทนท์ในตลาดที่ไร้พรมแดนได้ โดยเทคโนโลยีที่มีในซีรี่ส์นี้คือการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและ CG (Computer Graphics) ในการผลิตคอนเทนท์สมัยใหม่ โดยสามารถไล่เลียงเทคโนโลยีการผลิตงานคอนเทนท์เป็นตอนต่างๆดังนี้
สตูดิโอเสมือนจริง (Virtual Studio)
เทคโนโลยีการจัดรายการสด (Live Virtual Studio) นำมาใช้ในการจัดรายการประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ ทอล์คโชว์ เรียลลีตี้ หรือละคร การนำความสามารถของดิจิทัลมาสร้างฉากหลังเจะเป็นฉากสีฟ้าหรือเขียว เพิ่มความสมจริงด้วยฉากกราฟิก 3 มิติพร้อมแสงและเงา ซึ่งเราคงได้เห็นแพร่หลายในสถานีโทรทัศน์ระดับบิ๊ก คุณประโยชน์ที่สำคัญคือประหยัดเวลาและทรัพยากรในการสร้างและปรับเปลี่ยนฉากจริง
เทคโนโลยีการจับภาพเคลื่อนไหว (Motion Capture Technology)
เทคโนโลยีในการนำแอนิเมชั่นมาใช้กับคน (RealTime Mo-cap Character Animation) สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยแอนิเมชั่น การ์ตูน หรือแมสค็อต มาพูดคุยโต้ตอบกัน ซึ่งปัจจุบันมีความสมจริง โดยได้อิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดต่างๆ
เทคโนโลยีภาพสามมิติ (3D Stereoscopic Technology)
เทคโนโลยีการผลิตรายการแบบสามดี สเตอริโอ (3D Stereoscopic Technology) บางครั้งเราเรียกว่าเทคนิคนี้ว่า 3DS โทรทัศน์ 3 มิติเริ่มแพร่หลายและหาซื้อได้ง่ายขึ้น มีเทคนิคต่างๆโดยใช้แว่นตามแต่เทคนิคของทีวี 3 มิตินั้นๆ แต่ตัวรายการที่เป็น 3DS จริงๆยังน้อยมาก การสร้างสรรค์รายการ 3 DS สามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์และเทคนิคเดียวกัน และปัจจุบันเริ่มมีสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศบางช่องสร้างเป็นจุดขายในการออกอากาศรายการ 3DS ตลอด 24 ชั่วโมง
เทคโนโลยีการสร้างกราฟิกส์แบบเรียลไทม์ (Real-Time 3D Graphics Technology)
รายการจะน่าสนใจและมีผู้ติดตาม ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือต้องมีกราฟิกส์ประกอบรายการที่สวยงาม ตั้งแต่โลโก้รายการ ไปจนถึงฉากหลัง ซุปเปอร์ (ตัวหนังสือและโลโก้บนภาพ) ไตเติ้ล และการฟิกส์ประจำรายการ (Program ID) ซึ่งต้องอาศัยความสามารถของนักสร้างกราฟิกส์อย่างมาก บางรายการอาจต้องใช้เวลาในส่วนนี้เป็นเดือน เทคโนโลยีนี้จะมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ คือจะมีกราฟิกส์ที่สวยงาม แก้ไขง่าย และที่สำคัญจะไม่มีการรอคอมพิวเตอร์ประมวลผล เพราะเมื่อมีการแก้ไขแล้ว ระบบจะสามารถเล่นกลับได้ทันที
เทคโนโลยีในการออกอากาศและการแพร่ภาพแบบสายธาร (Media Streaming Technology)
สมัยก่อนเมื่อผลิตรายการโทรทัศน์แบบเดิมแล้ว จำเป็นต้องหาเวลาในการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งมีอย่างจำกัด หรือโรงภาพยนตร์ จึงทำให้ ‘เวลา’ เป็นสิ่งมีค่ายิ่งและทุกคนพยายามแสวงหาเพราะเป็นรายได้ทางเดียวสำหรับค่าผลิตรายการ แต่พอเริ่มยุคดิจิทัลมีการพัฒนารายการหรือคอนเทนท์ให้เป็นระบบดิจิทัล ทำให้เริ่มมีการคิดหนทางการส่งสัญญาณดิจิทัลออกหลายๆรูปแบบ ทำให้เกิดช่องทางอื่นๆนอกเหนือจากออกอากาศอย่างเดิม ทำให้เกิดรายได้มากขึ้นโดยไม่ยึดติดกับเวลาในสถานีโทรทัศน์อย่างเดียวอีกต่อไป หนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกคือระบบสื่อแบบสายธาร หรือ Media Streaming อาทิ YouTube, Netflix เป็นต้น
ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้การผลิตคอนเทนท์เป็นไปด้วยความตื่นเต้นน่าสนใจ และสามารถขยายจินตนาการของการผลิตรายการออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีนี้เข้ากับระบบ Mo-Cap ก็สามารถนำนักแสดงมาเล่นกับตัวละครในฉากเสมือนจริงได้ ยิ่งผสมผสานกับเทคโนโลยีความจริงเสมือน AR (Augmented Reality) ต่อด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพ 3 มิติแบบ Stereoscopic Technology จะทำให้เราเข้าใกล้โลกในจินตนาการเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของผ่านเวอร์ชวลมอลล์ หรือการรับชมภาพยนตร์ 360 องศาในห้องของเราเองที่บ้าน เทคโนโลยีเหล่านี้ เราจะมาไล่เลียงอย่างละเอียดในตอนต่อไป
บทความโดย
ลักษมณ์ เตชะวันชัย
รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย