ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์ ถกข้อคิดเห็นกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ย้ำผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เตรียมผลักดันหลักสูตรใหม่ ให้ความรู้เฉพาะด้าน “คริปโทเคอร์เรนซี”
9 มี.ค. 2564

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564  ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ได้จัดให้มีการประชุมออนไลน์กรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นในเรื่องการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) และ บิทคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในโลกของคริปโตเคอเรนซี  เป็นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีความผันผวนสูง การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความสามารถรับความเสี่ยงจากการได้รับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน จึงมีแนวคิดที่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งสภาดิจิทัลฯ ได้จัดการประชุมออนไลน์ในครั้งนี้ขึ้นเพื่อระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทาง ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ต่อการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และจะรวบรวมข้อคิดเห็นจากกรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ เพื่อนำเสนอต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ในการผลักดันเป็นกรอบนโยบายต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป นายวีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลฯ กล่าว


Clipto_2


ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีและการกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ก่อนการให้บริการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อประกอบการพิจารณา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมได้แก่ 1. คุณสมบัติของผู้ลงทุน เพื่อวัดความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน และจะพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก ๆ แบ่งออกเป็น ฐานะการเงิน ต้องมีรายได้ต่อปี ไม่รวมคู่สมรส 1 ล้านบาทต่อปี หรือ มีสินทรัพย์สุทธิ (net worth) ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่พักอาศัยประจำ หรือมีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป และในฐานะด้านความรู้ โดยจะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี หรือ มีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็น professional ตามที่สำนักงานกำหนด เช่น ผู้แนะนำการลงทุน, นักวิเคราะห์การลงทุน หรือผู้ที่ถือ CFA, CISA, CAIA หรือ CFP หากผู้ที่จะลงทุนมีคุณสมบัติไม่ครบตามข้างต้น จะไม่สามารถลงทุนในคริปโตเคอเรนซีได้โดยตรง แต่ยังสามารถลงทุนผ่านผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager) นอกจากนั้นในการเปิดบัญชีใช้บริการใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกำหนดเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท 2. การกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ซึ่งครอบคลุมหัวข้อเรื่องลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อประเมินทดสอบความรู้ผู้ลงทุนก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุน โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีคะแนนการทดสอบความรู้ในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

 Clipto_3 

Clipto_4


ในการประชุมระดมข้อคิดเห็นในครั้งนี้ ได้มีการสรุปรายละเอียดข้อคิดเห็นจากกรรมการและสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ ที่มีต่อการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น ข้อเสนอในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ให้ต้องมีคุณสมบัติด้านฐานะการเงินและด้านความรู้ เห็นควรให้ใช้หลักเกณฑ์ด้านความรู้เพียงประการเดียว เนื่องจากสภาดิจิทัลฯ มีบทบาทหลักในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในส่วนของการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี โดยการนำฐานะการเงินมาเป็นตัวกำกับจะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ที่ไม่มีฐานะจะไม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งในการสร้างรายได้ใหม่ได้ และการกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทำได้โดยการให้ความรู้อย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ถ้านำฐานะทางการเงินมาเป็นตัวจำกัดในการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย สิ่งที่ตามมาคือการเกิดแชร์ลูกโซ่ ซึ่งก่อให้เกิดการมีคนกลางนำเงินจากนักลงทุนมาลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และหลักเกณฑ์ข้อจำกัดประเภทนี้อาจส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้ลงทุนในประเทศไทย แต่นักลงทุนจะเลือกลงทุนไปยังต่างประเทศที่ไม่มีข้อกำหนดเช่นนี้แทน ทั้งนี้ยังมีประเด็นการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติด้านความรู้ที่เห็นว่าผู้ลงทุนในคริปโทเตอร์เรนซีควรมี ได้แก่ เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เช่น ผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น เป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ และมีประสบการณ์ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นโอกาสด้านการลงทุน อีกทั้งยังมีข้อเสนอด้านการเป็นผู้ทดสอบผ่านหลักสูตรด้านการลงทุนด้านต่าง ได้แก่ Chartered Financial Analyst (CFA), Certified Investment and Securities Analyst (CISA), Chartered Alternative Investment Analyst (CAIA) และ Certified Financial Planner (CEP) เป็นต้น โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าควรเป็นหลักสูตรใหม่ที่เฉพาะเจาะจงที่ให้ความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล, โทเคนดิจิทัล (Digital Token), ระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีความจำเป็นในการลงทุนด้านโทเคนดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยตรง ซึ่งสภาดิจิทัลฯ พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมออกแบบและพัฒนาบททดสอบหรือหลักสูตรดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีประเด็นการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีขั้นต่ำเป็นจำนวน 1,000 บาท ซึ่งเป็นการจำกัดการใช้คริปโทเคอร์เรนซีเพื่อการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากในปัจจุบันการซื้อคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ได้มีไว้เพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาใช้งานในการเป็นอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย รวมไปถึงกรณีประเด็นการกำกับดูแลผู้ให้บริการที่ทำการซื้อขายให้กับลูกค้า (Exchange) ควรไม่น้อยกว่าการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากความแตกต่างด้านความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลการเข้ารหัส Private Key จากผู้ให้บริการ เป็นต้น


Clipto_5


Clipto_6

สภาดิจิทัลฯ มีพันธกิจหลักในการเป็นองค์กรกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการรวบรวมข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำเสนอต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ต่อไป ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการผลักดันหลักสูตรใหม่ ที่ให้ความรู้เฉพาะด้านคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรอบด้านและครอบคลุม รวมไปถึงการกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนที่สอดคล้อง กับความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถในการรับความเสี่ยง และเพื่อเป็นการลดโอกาสในการเกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป