30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ นำโดย ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานและประธานพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ จัดให้มีการประชุมออนไลน์คณะกรรมการและสมาชิกสภาฯ ระดมสมองพร้อมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมหาแนวทางมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และ Startups ในวาระเร่งด่วนในการช่วยบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หวังฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจไทยหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 ต่อไป
“จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งล่าสุด สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรกลางได้ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรดิจิทัลกว่า 49 ราย ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอุปกรณ์ โซลูชั่นและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ กับโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลสนามจุฬาฯ และโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันมียังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบรอบด้านต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ รวมถึงรองประธานและกรรมการสภาฯ ทุกท่านมีความห่วงใยและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเห็นเร่งด่วนในการหารือระดมความคิดเห็นเพื่อหามาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME-Startup ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อีกทั้งแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนต่อไป” คุณอรดา วงศ์อำไพวิทย์ ผู้ช่วยประธานสภาฯ และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายสภาดิจิทัลฯ กล่าว
ทั้งนี้จากที่ประชุมครั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้มีข้อสรุปรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และ Startup ต่อสถานการณ์โควิด-19 ใน 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านลดผลกระทบ เช่น จัดทำคู่มือการทำโรงพยาบาลสนามต้นแบบ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปสนับสนุนทางการแพทย์, จัดทำแนวทาง Home Isolation ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อโควิดและอาการไม่รุนแรง เป็นต้น 2) ด้านการช่วยเหลือ เช่น จัดทำ E-Factoring รวบรวมฐานข้อมูลกลางของผู้ขายสินค้า ห้างค้าปลีกไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ลดความซ้ำซ้อน Supplier ลูกค้าขอสินเชื่อธนาคาร, ส่งเสริมการใช้ E-payment, เพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัล และเสริมทักษะในงานเดิมที่ทำอยู่เพื่อต่อยอดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล, มาตรการพักชำระหนี้และมาตรการทางภาษี เป็นต้น และ 3) ด้านการฟื้นฟู เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ, มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น โดยมีรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือซึ่งแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง รวมถึงการช่วยเหลือต่างๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้มีการบูรณาการความร่วมมือ โดยมีการร่วมหารือในมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวกับองค์กรภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เป็นต้น ไปจนถึง องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
จากการประชุมได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SME-Startup ดังกล่าว เช่น การรวบรวมข้อมูลปัญหาเพิ่มเติมของผู้ประกอบการ SME-Startup ในแต่ละภาคส่วนอย่างชัดเจน เพื่อจำกัดกรอบวงเงินสินเชื่อ และสถาบันการเงินที่กลุ่มดิจิทัลต้องการได้อย่างเหมาะสม, การกำหนดกลุ่มของผู้ประกอบการดิจิทัล เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และมาตรการสำหรับการช่วยเหลือ SME-Startup เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เงินกู้ระยะ สั้น-ระยะยาว, สิทธิพิเศษการขอสินเชื่อ และการขอทุนเงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นต้น, การพิจารณาปัญหาและอุปสรรค รวมถึงผลกระทบต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์วิกฤตโควิด, การขยายความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีความครอบคลุม, การผลักดันการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง และข้อเสนอรายละเอียดอย่างชัดเจนในเรื่องที่เร่งด่วนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเฉพาะที่มีปัญหา เป็นต้น
ทั้งนี้ สภาดิจิทัล ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินเคียงข้างคนไทยในสถานการณ์ที่รุนแรงดังกล่าว และพร้อมที่จะขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังต่อแนวทางมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และ Startups จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 อย่างรอบด้าน ทั้งการกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME และ Startups ในการช่วยกระตุ้นการลงทุน นำไปสู่การฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจไทยหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 ต่อไป เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน