23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาฯ รองประธาน คณะกรรมการและสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ จัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 2/2564 โดยมีภาพรวมสาระสำคัญในการประชุม ได้แก่การพิจารณาวาระสำคัญ โดยให้คณะกรรมการรับทราบและพิจารณา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานของ “สภาดิจิทัลฯ” ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 1/2564 2) การรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ ได้แก่ ความคืบหน้าการดำเนินงานพันธกิจยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯ เช่น ความร่วมมือในการขับเคลื่อน Coding แห่งชาติ, โครงการ DCT DIGITAL U และ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใน Tech Companies เป็นต้น และ ความคืบหน้าการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิดของสภาดิจิทัลฯ รวมถึง 3) เรื่องเพื่อพิจารณา ได้แก่ การนำเสนอโครงการภายใต้พันธกิจแต่ละด้าน เช่น เรื่อง Child Online Protection Guideline, การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ปี 2566-2570 การพิจารณาระเบียบการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาความร่วมมือพันธกิจในคณะที่ปรึกษาความร่วมมือพันธกิจ สภาดิจิทัลฯ เป็นต้น 4) เรื่องเพื่อทราบได้แก่ ความคืบหน้าโครงการ Seed Project และ 5) เรื่องสถานภาพสภาดิจิทัลฯ เป็นต้น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ มีความตระหนักถึงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคงแพร่ระบาดในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ โดยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ ถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงได้มีข้อเสนอ 2 แนวทางหลักในการแก้ไขวิกฤตโควิด และเศรษฐกิจของประเทศไทย ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งแผนระยะสั้น-ระยะกลางให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่ 1) มุ่งแก้ปัญหาในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิดมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้กลับเข้าสู่ภาวะที่ดึงดูดการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง โดยเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุด จะส่งผลต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคกลับมาเพิ่มมากขึ้น 2) การลงทุน คือตัวชี้วัดที่ดีที่สุดที่ฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นและเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้น โดยผลักดันมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนของภาคเอกชน เช่น ดอกเบี้ยกู้เงินเพื่อการลงทุนต่ำ ยืดการชำระหนี้ระยะยาว ช่วงระยะเวลาพักหนี้ก่อนการชำระเงินต้นในระยะยาว เป็นต้น และอีกตัวชี้วัดที่สำคัญคือ การลงทุนจากต่างประเทศ โดยการดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการระดับโลก การส่งออกสินค้าสู่ระดับภูมิภาค เทคโนโลยี บุคลากร รวมถึงทุน และที่สำคัญเป็นการรับรองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง
"แนวทางในการพลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาสต่อการสร้าง “Digital Culture” โดยใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเป็นโอกาสการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในการพัฒนาศักยภาพการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม และการศึกษาในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม นอกจากนี้ ยังได้แสดงความห่วงใยในความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยสภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือในการบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตโควิด และปัญหาทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวในตอนท้าย