ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล และแพทยสภาฯ ทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ผนึกกำลังฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
14 ส.ค. 2564

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับสมาคม และพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล รวมถึงแพทยสภา ระดมพลังจากทุกภาคส่วนทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มาช่วยลดผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเน้นย้ำ 3 วัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 2) การเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน 3) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์วิกฤต โดยเริ่มต้นกับ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในครั้งนี้ จะสนับสนุนภาครัฐในการเป็นส่วนเสริมภารกิจในการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไปร่วมกับแพทยสภาอีกด้วย ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ จะประสานและให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเข้าถึง และตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมของโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทยสภาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และ สภาดิจิทัลฯจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป


ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายประกาศความร่วมมือเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย แพทยสภา โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาฯ, พลอากาศตรี นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาฯ, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาฯ และ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ 1) โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ 2) โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง โดย พลอากาศโท ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ, พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ และนาวาอากาศเอก นายแพทย์ กฤษฎา ศาสตรวาหา และ 3) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ


ในส่วนของพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ ประเภทสมาคม ได้แก่ 1) สมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย 2) สมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี 3) สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4) สมาคมซีไอโอ 16 5)สมาคมดิจิทอลคอนเทนท์ไทย 6)สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย 7) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย 8) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย 9) สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและคลาวด์ไทย 10) สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส 11) สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ 12) สมาคมสมองกลฝังตัวไทย 13) สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย 14) สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย 15) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย 16) สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย 17) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 18) สมาคมไทยไอโอที 19) สมาพันธ์สมาคมดิจิตอลคอนเทนต์บันเทิงไทย


ประเภทกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ 1)บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), 2)บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), 3)บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC), 4)บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, 5)บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Microsoft), 6)บริษัท เอคเซนเชอร์โซลูชั่นส์ จำกัด (Accenture), 7)บริษัท แซดทีอี (ไทยแลนด์) จํากัด, 8) บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด (CISCO), 9)บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด (Ericson), 10)บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด, 11)บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (Oracle) และ 12)บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) (True)

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ ได้แก่ 1) บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด / เป็ดไทยสู้ภัย 2) บริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด 3) บริษัท เดย์เวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด 4) บริษัท สราญ เทคโนโลยี จำกัด และ 5) บริษัท ไอร่า คอนเซปท์ จำกัด ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในวาระเร่งด่วนเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามในสถานที่ต่างๆ ที่กำลังรับมือการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ในระลอกที่ 3 อยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ประเด็นหลักในการหารือครั้งนีที่ประชุมได้ทราบถึงความต้องการเร่งด่วนของทางโรงพยาบาลสนามที่ต้องการให้สนับสนุนในเรื่องของความไม่คล่องตัวในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างทีมแพทย์ คนไข้ และโรงพยาบาล รวมทั้งความสามารถในการประสานงานและการจัดเตรียมในเรื่องของเครื่องมือ ยารักษาโรค และอุปกรณ์การแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและได้รับทันท่วงทีในสถานการณ์ที่ต้องการอย่างเร่งด่วน


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์ครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ผมและสมาชิกสภาดิจิทัลฯเชื่อว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นโซลูชั่นสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการรับมือภาวะวิกฤตขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีหลายองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และมีความสามารถในการพัฒนาโซลูชั่นที่ล้ำสมัย ดังนั้นสภาดิจิทัลฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีสรรพกำลังและองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงพร้อมเชื่อมโยงพันธมิตรที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ มารวมพลังเพื่อนำดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทุกองค์กรมีอยู่มาร่วมสร้างประโยชน์สูงสุด ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้”


ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาฯ และ พลอากาศตรี นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาฯ กล่าวโดยรวมว่า “แพทยสภาฯต้องขอขอบคุณสภาดิจิทัลฯ องค์กรสมาชิกทุกราย และเครือข่ายพันธมิตร ที่ได้ร่วมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงานแก่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากต่อการให้บริการสาธารณสุข ที่มีจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้ทีมแพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจมากขึ้น โอกาสเสี่ยงก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการสนับสนุนในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย รวมถึงเสริมการบริหารจัดการดูแลรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลหลักกับ รพ.สนาม อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมีโอกาสช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น”


ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวโดยรวมว่า “โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีความทันสมัย และเรายังมีคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการ รวมทั้งมีหุ่นยนต์ที่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์มากมาย ซึ่งการที่สภาดิจิทัลฯ กับองค์กรบริษัทต่างๆ ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้โรงพยาบาลสนามจุฬาฯ มีโอกาสเป็นต้นแบบโรงพยาบาลสนามที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สามารถช่วยเหลือให้บริการผู้ป่วยได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น และพร้อมนำไปขยายผลไปสู่โรงพยาบาลสนามอื่น ๆ ต่อไป”


พลอากาศโท ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ และ พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ กล่าวโดยรวมว่า “รพ.สนามทหารอากาศ เป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งเปิดใหม่ และยังมีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่สภาดิจิทัลฯ ร่วมกับแพทยสภาและภาคเอกชนต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงาน ทำให้ รพ.สนามอากาศแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบ ที่มีคุณภาพ สามารถรองรับและรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น”


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ กล่าวโดยรวมว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีเตียงมากที่สุดในประเทศไทย และมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นถือเป็นโอกาสดีที่สภาดิจิทัลฯ แพทยสภาฯ และภาคเอกชน ให้ความสำคัญและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยและแพทย์ ทำให้สามารถบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ”


ทั้งนี้ ข้อสรุปความช่วยเหลือของสภาดิจิทัลฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลสนามในขณะนี้คือ การพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น “SMART FIELD HOSPITALS” ซึ่งจะเน้นการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแพทย์กับคนไข้ รวมถึงโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลสนาม ให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยความมั่นใจ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรค และสามารถขยายการให้บริการหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย


1) อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายเหมาะสมกับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใช้

2) ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย (Secure Patient Monitoring & Records) ระบบเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละรายโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และระบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย (ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลการรักษา) ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

3) ระบบนัดหมายและสื่อสาร (Scheduling & Communication) : ระบบรองรับการนัดหมายและการจัดคิวในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในหลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมด้วยวีดิทัศน์ (Video Conferencing) การประชุมด้วยเสียง (Voice Call) การแชท (Chat) และการขอความช่วยเหลือฉุกเฉินโดยผู้ป่วย

4) การลดความเครียดและให้ความรู้ (Stress Relief & Education) : ข้อมูล ข่าวสาร และความบันเทิงเพื่อลดความเครียดและให้ความรู้ผู้ป่วยระหว่างอยู่ใน รพ. สนาม

5) ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมและ รพ. สนาม (Environment & Facility Monitoring) ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อม เช่น ระดับแสง อุณหภูมิ ระดับความชื้นของพื้นที่ และ รพ. สนามเพื่อรายงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

6) โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure: Network and Data Centers) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัย


การพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น SMART FIELD HOSPITALS มีแผนดำเนินการพัฒนาด้านการใช้งานแอปพลิเคชัน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาลสนามทั้งจุฬาฯ, กองทัพอากาศ ดอนเมือง และธรรมศาสตร์ ที่เป็นต้นแบบโรงพยาบาลสนาม หากประสบผลสำเร็จจะดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสนามอื่นต่อไป


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ สภาดิจิทัลฯ มีความห่วงใยในความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของคนไทยในสถานการณ์วิกฤตนี้เป็นอย่างมาก โดยสภาฯ พร้อมเต็มที่ในการเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ และนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลและความรู้ความสามารถของขององค์กรทั้งสมาชิกและพันธมิตรต่างๆ มาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน