6 สิงหาคม 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) พร้อมคณะกรรมการ และที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิของสภาดิจิทัลฯ ได้มีการประชุมออนไลน์ร่วมกันเพื่อหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือ SME และ Startups จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยมีแนวทางจัดตั้งคณะทำงาน (Steering Committee) ร่วมกันผลักดันเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวในที่ประชุมว่า สภาดิจิทัลฯ ได้นำเสนอการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นเรื่องของ Upskill/Reskill แก่บุคลากรด้านดิจิทัล และยกระดับศักยภาพการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับนักเรียน นักศึกษา, การผลักดัน Capital Gains Tax 0% เพื่อดึงดูดการลงทุน พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้านโครงสร้างระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศไทย, การจัดตั้ง Center of Excellence ด้านดิจิทัล สนับสนุนโดยกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือ SME และ Startup ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 อีกทั้งต่อยอดให้เกิดการ Transform ไปสู่ศักยภาพที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยสภาดิจิทัลฯ ได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนของธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านและนำไปสู่การ Transformation ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จากการประชุมได้สรุปรายละเอียดข้อเสนอของสภาดิจิทัลฯ ในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) กำหนดให้อัตราภาษี Capital Gain เป็น 0% สำหรับการลงทุนโดย VC, SME และ Startup 2) การจ้าง SME/Startup ในโครงการที่เกี่ยวกับดิจิทัลของภาครัฐ 3) ส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงการใช้ Smartphone, Application โดยค่าใช้จ่ายสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 4) ส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา Upskill/Reskill Workforce และลดช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัลแก่กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส 5) ร่วมกันหาแนวทางและวิธีการในการกำหนดมาตรฐานทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 6) จัดสรรทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ให้กับการพัฒนากำลังคน การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิจัยและพัฒนา Deep Tech ด้านดิจิทัล 7) การศึกษาและจัดตั้ง Center of Excellence ด้านดิจิทัลของประเทศไทย 8) สนับสนุนการแก้ปัญหาและความต้องการของ Cloud Provider ไทย และ 9) ส่งเสริมการ Digitize ภาครัฐ และ Government Data Analytics Center
“สภาดิจิทัลฯ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ โดยข้อเสนอที่ทางสภาฯ ได้ให้แนวทางมานั้นเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ รวมถึงสอดคล้องกับภารกิจที่ทางกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในลำดับถัดไปจะพิจารณาการแต่งตั้งคณะทำงานทั้งในวาระเร่งด่วน เช่น การจัดสรรทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ให้กับการพัฒนากำลังคน การช่วยเหลือ SME และ Startups จากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงการผลักดันด้านกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กล่าวเสริมในตอนท้ายการประชุม