3 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติข้อเสนอของ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ และเครือข่ายพันธมิตร ในการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้น “ภาษี Capital Gain Tax 0% สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย” เพื่อกำหนดเป็นมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพ และ Tech companies ของไทย ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพลิกโฉมประเทศไทยในอนาคต
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัล ได้นำเสนอถึง ความท้าทายของโลก ที่ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวในส่วนของ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Capital Inclusive) การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และ การที่ทั่วโลกเข้าสู่เรื่องความยั่งยืน และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ประเทศที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องปรับตัวให้ทันยุคต่อไป นั่นคือยุคของเทคโนโลยีใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า ยุค 5.0 ที่ต้องสร้างคน และ ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย ซึ่ง การที่ภาครัฐเตรียมขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การขับเคลื่อนเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ การผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ต่อยอดไปถึงการดึงดูดผู้ประกอบการรายใหญ่ มาสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสอย่างมากในการส่งออกวัฒนธรรม (Soft Power) ซึ่งหากมีการดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย นอกจากจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ
ทั้งนี้ข้อเสนอที่ได้รับการอนุมัติในวันนี้ เป็นส่วนสำคัญของการยกระดับด้านกฎระเบียบ ซึ่งรวมไปถึงมาตรการทางภาษี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น โดยจากการสำรวจของสภาดิจิทัลฯ พบว่าองค์ประกอบดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักนอกเหนือจากทักษะชั้นสูงด้านดิจิทัลที่ประเทศยังขาดแคลนที่สตาร์ทอัพ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่สตาร์ทอัพไทยจะย้ายกลับมาจากการจดทะเบียนที่ต่างประเทศ และนักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยจากนี้ไป กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และ สภาดิจิทัลฯ จะบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้ พ.ร.ฎ. สามารถออกเป็นกฎหมายได้ภายในต้นปีพ.ศ. 2565 และจะกลับไปนำเสนอกับ ท่านนายกรัฐมนตรี และ ศบศ. ถึงมาตรการอื่นๆ ในการส่งเสริมระบบนิเวศ ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพให้แก่ผู้ประกอบการไทยในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวของสภาดิจิทัลฯ และเครือข่ายพันธมิตรในการที่จะผลักดันจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศ (Venture Capital หรือ VC) เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem)ให้เข้มแข็งทั้งด้านนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก ซึ่งหลังจากการแก้ไขมาตรการภาษีดังกล่าว จะทำให้ไทยสามารถเร่งขยายโอกาสการเติบโตของสตาร์ทอัพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย และยังถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญและเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในประเทศไทย นับจากนี้ สภาดิจิทัลฯ จะเร่งดำเนินการสานต่อการดำเนินงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพแก่ผู้ประกอบการไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
“สภาดิจิทัลฯ” ขอขอบคุณและชื่นชมภาครัฐบาล นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่งในการแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงของทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรมสรรพากร, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงความร่วมมือภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Trade Association), กลุ่ม Innovation Club Thailand, สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA), Techsauce พร้อมทั้งกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ 500 Tuktuks, Krungsri Finnovate, Openspace Ventures, บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด, บริษัท ฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด, Nvest Venture รวมถึงกลุ่ม Startup ได้แก่ Amity, QueQ, Omise, Dayork, Finnomena, OokBee, ClaimDi, System Stone, PEAK, MyClound, ira concept, The Existing Company, Stock Radar, Snail Walk, Arincare, Chiiwii, Smartcontract, Indy Dish และกลุ่ม Angel Investor