27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และรองประธาน คณะกรรมการ ที่ปรึกษา ตลอดจนสมาชิกร่วมประชุมสามัญประจําปีผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีจำนวนสมาชิกร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันและครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด และมีวาระสำคัญประกอบด้วย 1) รับรองรายงานการประชุมสามัญประจำปีที่ล่วงมา สภาดิจิทัลฯ 2) เรื่องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานแสดงสถานภาพเศรษฐกิจ และผลผลิตด้านดิจิทัลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสากล และการรับรองรายงานประจำปีแสดงผลงานรวมถึงรายงานประเมินผลงานของสภาดิจิทัลฯ ปี 2564 ตลอดจนร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายของคณะกรรมการ แผนดำเนินงานและงบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีความตระหนักถึงภาพรวมของเศรษฐกิจและความท้าทายของโลกที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดและภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) รวมถึงภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกมีภาวะถดถอย ตลอดจนส่งผลต่อเสถียรภาพของสินค้าพื้นฐาน อุปโภคบริโภค และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญ
นายศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ความท้าทายหลักที่สภาดิจิทัลฯ ต้องช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกันกับนโยบายภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ได้แก่ 1. การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital
Transformation) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีผลกระทบในระดับโลก (Megatrends) นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
2) การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะทำให้การกระจายรายได้และความเจริญขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
(Inclusive Capital) 3)
ความยั่งยืน (Sustainability)
และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่
ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนความท้าทายเหล่านี้ร่วมกัน
โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืน นอกจากนั้นการทรานสฟอร์มในระบบอุตสาหกรรม
ตัวชี้วัด ระบบนิเวศ
และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน
จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมไทยตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ
รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมให้มีศักยภาพในการแข่งขันและมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
สภาดิจิทัลฯ ในฐานะที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก ได้มีการขับเคลื่อนการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gains Tax 0% สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยให้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสตาร์ทอัพไทยรายใหม่จำนวน 1 หมื่นรายภายในระยะเวลา 2-3 ปี และก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรถึง 5 แสนคน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และ Digital Transformation ให้กับประเทศไทย นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าว