วันที่ 23 มิถุนายน 2565 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย “ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย “คุณ Rury Demsey” เจ้าหน้าที่โครงการสำนักงานเขต ITU สำหรับเอเชียและแปซิฟิก จัดงาน “Girls in ICT Access and Safety” ในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนั้น ในส่วนของสภาดิจิทัลฯ ได้รับเกียรติจาก “คุณธิดารัธ ธนภรรคภวิน” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล และ “คุณอรมดี ปุรผาติ” กรรมการและปฏิคม ร่วมแชร์ความคิดเห็นในการสร้างโอกาสทางอาชีพดิจิทัลให้กับเยาวชนสตรีของไทย โดยจุดมุ่งหมายในการจัดงานเพื่อสนับสนุนวาระของโลกในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงและเยาวชนหญิงให้มีทัศนคติ ศักยภาพ และความเชื่อ ในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับทัศนคติของผู้คน สิ่งสำคัญคือ การวางรากฐานทางสังคมที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการดังกล่าว โดยเฉพาะการลดช่องว่าง อคติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรี ด้วยเหตุนี้ สภาดิจิทัลฯ มีแนวทางส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งในด้านการศึกษาและ ICT ของไทย โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่วัดผลได้ เพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรบุคคล การวางแผนนโยบาย และการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเปลี่ยนวัฒนธรรม ลดอคติ เพื่อลดช่องว่างทางเพศ การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากผู้นำสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้าน ICT สำหรับเด็กหญิงและสตรี รวมถึงการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานหญิงให้สามารถแข่งขันได้ในยุค 4.0 และเตรียมพร้อมสู่ยุค 5.0 ที่สำคัญต้องมีต้นแบบและผู้นำทางความคิดในการพัฒนาความสามารถด้าน ICT และส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับเด็กหญิงและสตรีในทุกระดับ
ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าประเด็น Girls in ICT ถือเป็นวาระของโลกที่มุ่งให้ความสำคัญในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านดิจิทัล (Gender Digital Divide) โดยทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน ICT และการเข้าถึง เพื่อให้เกิดการต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาทักษะ อาชีพด้านดิจิทัลให้แก่ผู้หญิงและเยาวสตรี
“การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยในส่วนนี้ เราจึงควรต้องมีการวางนโยบายในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน (Digital Divide) เพื่อให้ ICT สามารถสนับสนุนการเข้าถึงองค์ความรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัยและรู้เท่าทัน ตลอดจนลดช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างเพศต่อไป”
ด้าน คุณธิดารัธ ธนภรรคภวิน รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ และ คุณอรมดี ปุรผาติ กรรมการและปฏิคม สภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวในหัวข้อ ‘เร่งสร้างโอกาสทางอาชีพดิจิทัลให้แก่เยาวชนสตรีของไทย’ ถึงผลสำรวจของ IMD ที่ระบุว่า นักวิจัยหญิงของประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในอันดับที่ 6 จาก 64 ประเทศ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจ และจากความสำเร็จของผู้หญิงไทยที่ได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก อาทิ ผลงานอะนิเมชั่นเรื่อง Sea of Love ที่ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งควบคุมการผลิตและออกแบบโดยผู้หญิงไทยคือ คุณวณิชยา แพร่จรรยา และ คุณเอมสินธุ รามสูต หรือศิลปิน Toy Artist ‘Molly’ โดยคุณนิสา ศรีคำดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้วยผลงาน ‘Crybaby’ เป็นต้น เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ผู้หญิงไทย โดยสภาดิจิทัลฯ ได้ให้การสนับสนุนผู้หญิงเรียนรู้และเปิดโลกดิจิทัลผ่านหลักสูตรการเรียนรู้กว่า 4,000 หลักสูตรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อขยายโอกาสทางอาชีพดิจิทัลให้เยาวชนหญิงไทย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแนวคิดในมิติเกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยีแล้วนั้น ยังครอบคลุมถึงแนวคิดด้านการศึกษาและความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก “คุณกมลนันท์ เจียรวนนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี และ “คุณพริมา องค์วิเศษ” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟิวเจอร์ ชาร์จ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในหัวข้อ ‘สังคมดิจิทัลและความยั่งยืน’
โดย คุณกมลนันท์ กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้หญิงว่าควรหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญ ผู้หญิงก็ควรต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสายอาชีพบางอาชีพที่สังคมกำหนดให้แค่ผู้ชายเข้าไปทำงาน โดยพบว่ามีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM และมีผู้หญิงเพียง 24% ได้ทำตำแหน่งผู้จัดการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่วงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยผู้ชายอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นบรรทัดฐานสังคมยุคนี้ควรเปลี่ยนแปลงและเปิดรับให้โอกาสผู้หญิงได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากสังคมเปิดโอกาสในการเข้าถึง ICT จะทำให้ผู้หญิงสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสให้สังคมอย่างยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน
สำหรับงาน “Girls in ICT Access and Safety” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ “คุณ Shradha Pandey” ITU Generation Connect-Asia และทูตเยาวชนแปซิฟิก, “คุณพรปวีณ์ ม้วนหรีด” ทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรกของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ตอัปชั้นนำ และ เยาวชนหญิงเข้าร่วมให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยภายในงานมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในหลายมุมมองทั้งความสำคัญในการพัฒนาด้าน ICT การเข้าถึง รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้งาน เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดของผู้หญิงและเยาวสตรีในด้าน ICT อีกด้วย