“ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลฯ นำทีมประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนา Accessibility Guidelines ฉบับ WCAG 2.1 สู่แนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) อย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ผลักดันผู้พิการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล ร่วมกับคณะกรรมการสภาฯ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หัวข้อ “การพัฒนา Accessibility Guidelines ฉบับ WCAG 2.1 ตามแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility)” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี “ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ สภาดิจิทัลฯ “ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา มูลนิธิคนตาบอดไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการจัดทำมาตรฐานการพัฒนาเว็บ TWCAG 2022 (Thai Web Content Accessibility Guidelines 2022) ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล (Digital Divide) ในกลุ่มผู้เปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
“ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน โดยมีพันธกิจยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ดิจิทัล นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล ให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมีพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล ที่มุ้งเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งข้อมูลข่าวสารและการรับบริการผ่านทางดิจิทัล โดย สภาดิจิทัลฯ จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแนวทางการสร้างโอกาสการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการ (Web Accessibility) ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยการกำหนด Accessibility Guidelines เพื่อเผยแพร่แนวปฏิบัติการพัฒนาให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าถึงดิจิทัลในระยะยาวต่อไป
สำหรับรายละเอียดร่างแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาและนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลของเว็บไซต์มี 4 หลักการ ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์ของ WCAG 2.1 2) เกณฑ์ความสำเร็จ 3) ความแตกต่างระหว่าง WCAG 2.0 กับ 2.1 และ 4) แผนการดำเนินงานของ DCT
จากการประชุมระดมข้อคิดเห็นในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอและสรุปความเห็นต่อร่างแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ กระบวนการตรวจสอบเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน การพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำไปปรับปรุงเว็บไซต์ และสร้างการตระหนักรู้ในการเข้าถึงเว็บไซต์, การอบรมบุคลากรภาครัฐในการปรับปรุงเว็บไซต์ที่ให้คนพิการเข้าถึงได้, การผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรหรือผู้แทนคนพิการเพื่อสะท้อนวิธีการเข้าถึงโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลและมีความเข้าใจง่ายมากขึ้น นำไปสู่การเชื่อมโยงและดัดแปลงข้อมูลที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ง่าย, การทำแบบสำรวจระบบหรือบริการของภาครัฐ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงหรือพัฒนาเว็บไซต์ตาม Accessibility Guideline และการกำหนดระยะเวลาที่จะบังคับใช้ เช่น บังคับให้ดำเนินการภายใน 3 ปี เพื่อให้มีเวลาจัดหา วางแผนและดำเนินการต่อไป, การจัด workshop ระบบตัวอย่าง หรือหลักสูตรให้ความรู้ด้านการพัฒนาเว็บไซต์ตาม Accessibility Guideline เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และประยุกต์ใช้งานได้, ควรมีหน่วยงานและเครื่องมือช่วยในการตรวจสอบเว็บไซต์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยืนยันว่าเป็นเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐาน, การสร้างความตระหนักรู้หลังจากแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) มีการเผยแพร่แล้ว เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาเป้าหมายความร่วมมือต่อยอดในการสร้างศูนย์พัฒนา Accessibility ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับคนพิการต่อไปในอนาคต
ต้องขอขอบคุณและมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งได้รับความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) โดยสภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจสำคัญตามนโยบายของ “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น สภาดิจิทัลฯ พร้อมเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมผลักดันและสนันสนุนการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งสร้างกลไกและแนวทางการผลักดันทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถดำเนินการตาม Accessibility Guidelines ตลอดจนเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว