วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2565 - “นางสาวตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ระหว่าง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ)” โดย “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล ร่วมกับ "สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)" โดย "ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา" เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย "สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" "สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย" "สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" และ "สภาเกษตรกรแห่งชาติ" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
“นางสาวตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือจาก 5 สภาหลักที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการอาชีวศึกษา โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่า “อาชีวะสร้างชาติ” ดังนั้น ความท้าทายจากสถานการณ์ของโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนในเรื่องกระบวนการศึกษาและการพัฒนาของเด็กอาชีวะอย่างมีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันพัฒนากระบวนการด้านอาชีวะและเยาวชน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ
“การบูรณาการความร่วมมือจากภาคเอกชน ในฐานะองค์กรวิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นผู้นำในภาคเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ศธ.ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ 5 องค์กรเอกชนของ สอศ.ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้ง 6 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามาร่วมมีบทบาท เพื่อการพลิกเปลี่ยนและยกระดับความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวะในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐาน และเชื่อมโยงการทำงานในการวางแนวทางการพัฒนาคนอาชีวะอย่างเป็นระบบที่แข็งแรง เข้มข้น และครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้การผลิตบุคลากรได้อย่างมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และจะเป็นแนวทางสำคัญในขับเคลื่อนระบบการศึกษาทางด้านสายอาชีพ ให้มีการปรับตัว และบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศในเวทีระดับโลก”
“นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการเดินหน้าผลักดันนโยบาย หรือแนวทางด้านดิจิทัลต่างๆ ตลอดจนให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเดินหน้าเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากที่สภาดิจิทัลฯ มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ของสภาฯ เช่น รายการ DCT Digital Future Talks อินโฟกราฟิก (Infographics) และการสัมมนาร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในอีกหลายด้าน อาทิ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษผ่านโครงการและแพลตฟอร์มบน DCT Digital U การส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ตามมาตรการสร้างแรงจูงใจ Thailand Plus Package การผลักดันมาตรการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ Laptop ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการคลัง เป็นต้น
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมสร้างพลังครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการจัดอาชีวศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะวิชาชีพ แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพและฝึกอาชีพ แก่ครู นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาครอบคลุม สอศ. ทั่วประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ต่อยอดการผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวะศึกษาไทย”
นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างสภาดิจิทัลฯ และ สอศ. รวมถึง ภาคีเครือข่าย 4 สภา ในการยกระดับการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา ผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้ทัดเทียมสากล เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านดิจิทัลในทุกมิติ อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ตลอดจนการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน “นางเขมนรินทร์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว
สำหรับ “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม” ระหว่าง สภาดิจิทัลฯ และ สอศ. เป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศ โดยมีการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่ 1) ร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 2) จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีทุกระดับการศึกษา 3) พัฒนาหลักสูตร 4) พัฒนาครู บุคลากรศึกษา และครูในสถานประกอบการ 5) เพิ่มทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดยการฝึกอาชีพตามหลักสูตรและฝึกปฏิบัติจริง และ 6) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้ ภายในงาน MOU ดังกล่าว สภาดิจิทัลฯ ได้ออกบูธร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 สภา โดยประชาสัมพันธ์หลักสูตรเพื่อ Upskill/ Reskill กำลังคน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ และ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย มุ่งเน้นหลักสูตรทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูงในปัจจุบัน ภายใต้โครงการ Digital Skill Buffet ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพกำลังคนดิจิทัลในประเทศให้ทัดเทียมสากล หากผู้สนใจหลักสูตรความร่วมมือสภาดิจิทัลฯ เพื่อเตรียมพร้อมทักษะรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต สามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dct.or.th/th/our-service/training