วันพุธที่ 25 มกราคม 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรีกรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ ได้แก่ “ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” “ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” “นายแก้วสรร อติโพธิ” “พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ” และรองประธาน ตลอดจนคณะกรรมการร่วมประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีวาระสำคัญประกอบด้วยการรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์และการดำเนินงานตามพันธกิจยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯ นอกจากนั้น คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกันเวิร์กช็อป “กำหนดเป้าหมายและแผนการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุพันธกิจสภาดิจิทัลฯ” เพื่อระดมความคิด (Brainstorm) และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบรรลุพันธกิจสภาดิจิทัลฯ รวมทั้งสร้างเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนพันธกิจนำไปสู่แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศอย่างยั่งยืน
"นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวเปิดงานเวิร์กช็อปโดยเริ่มจากสถานการณ์โลกที่มีการหยิบยกมาพูดบนเวที WEF Davos 2022 หรือการประชุมประจำปี World Economic Forum ปี 2022 นั้นประกอบด้วยประเด็นที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับสภาดิจิทัลฯ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Inclusive Capital) การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และ ความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายและกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต นอกจากนั้น ยังมีประเด็นด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่น่าสนใจ นั่นคือ ChatGPT ซึ่งเป็น AI ที่ช่วยค้นหาข้อมูลได้อย่างแม่นยำ จึงถือได้ว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ AI อย่างแท้จริง ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มศักยภาพสู่การศึกษาในยุค 4.0 ตลอดจน วัฒนธรรมและจริยธรรม (Ethic) ในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล การคัดกรองข้อมูลอย่างมีคุณค่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้มนุษยชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
“การขับเคลื่อนพันธกิจยุทธศาสตร์สภาดิจิทัลฯ นำไปสู่การ Digital Transformation ของประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กฎระเบียบและมาตรฐานใหม่ตลอดจนสร้าง Ecosystem โดย 1) กำหนดทิศทางและตัวชี้วัดนำไปสู่ผลลัพท์ที่มีประสิทธิภาพ (DigitalIndex & Standard) 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public Policy &Public Private Partnership) 3) ทักษะแรงงานดิจิทัลแห่งอนาคต (Digital Workforce) โดยการ upskill/reskill แรงงานเพื่อเพิ่มทักษะและการสร้าง Startups โดยหากประเทศไทยมี Tech Startups จำนวน 20,000 บริษัทโดย 1 บริษัท มีพนักงาน 50 คน จะสามารถสร้าง Digital Workforce ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ประมาณ 1 ล้านคน และดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างมหาศาล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค (Regional Innovation Hub) โดยการดึงดูดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และส่งผลดีต่อโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพรวมและ 6) การส่งเสริมด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัล (Society & Digital Culture) อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ”
ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณท่านที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิรองประธาน และคณะกรรมการทุกท่านที่มาร่วมประชุมและเวิร์กช็อปในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทุกท่านจะได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเพื่อบรรลุพันธกิจสภาดิจิทัลฯ นำไปสู่แนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป นายศุภชัย กล่าว
ภาพประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 1/2566
ภาพงานเวิร์กช็อป กำหนดเป้าหมายและแผนขับเคลื่อน บรรลุพันธกิจสภาดิจิทัลฯ