วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ระหว่างประเทศ) และ “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups ร่วมกับ “บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด” โดย “นางอาภาพร สกุลกิตติยุต” Lead Data Scientist บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ “นายโอม ศิวะดิตถ์” National Technology Officer บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจและการทำงานด้วยศักยภาพ ChatGPT” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นโอกาสของธุรกิจกับประโยชน์ที่ได้จาก ChatGPT การปรับตัวของภาคการศึกษาและภาคธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง ChatGPT ตลอดจนการแชร์ ChatGPT Case Study เป็นต้น
“ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ระหว่างประเทศ) กล่าวถึงความสำคัญของ ChatGPT ต่อภาคการศึกษาว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยนักศึกษาสามารถหาข้อมูลต่างๆ ได้จาก ChatGPT ดังนั้น สิ่งที่ต้องปรับ คือ การเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งาน ChatGPT ดังเช่น อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษาในทุกระดับอย่างชัดเจนว่า ChatGPT เป็น Language Model ซึ่งสามารถถาม-ตอบได้ แต่อาจจะเป็นได้ทั้งข้อมูลที่ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องปรับตัวในการเสริมสร้างความรู้ให้มากกว่า ChatGPT เพื่อให้สามารถแยะแยะข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น สิ่งสำคัญมากที่สุดคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด โดยเน้นการเรียนรู้การดึงประสิทธิภาพสูงสุดของ AI มาใช้ ผ่านคำสั่งที่ป้อนเข้าไป และทำให้ AI ตอบกลับได้ตรงความต้องการมากที่สุดพร้อมบริบทที่ครบถ้วน (Prompt Engineering) นอกจากนั้น อาจารย์ผู้สอนต้องมีการปรับตัวและเปิดใจในการหาข้อมูลและเรียนรู้การใช้งานจาก ChatGPT
“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์มนุษย์เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา ย่อมมีผลต่อการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้งานจากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังเช่น ChatGPT ซึ่งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว การสร้างเนื้อหาคอนเทนต์ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจ เช่นช่วยจัดการกำหนดเวลาการนัดหมาย นอกจากนั้นความท้าทายจาก ChatGPT คือการพึ่งพาเทคโนโลยี โดยมนุษย์ต้องผลักดันความคิดสร้างสรรค์ และพลังงานบวกในการทำงานไปอีกขั้น และความปลอดภัยเชิงข้อมูลซึ่งมีความเสี่ยงในการละเมิดข้อมูลลับและข้อมูลสำคัญขององค์กร ตลอดจนความเอนเอียงหรือความถูกต้องของการประมวลข้อมูลขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ประมวล การปรับตัวที่สำคัญของมนุษย์ต่อ AI และ ChatGPT คือ การฝึกเป็นนักตั้งคำถาม และการฝึกคิดต่างให้เหนือกว่าการนำ Data มาย่อย รวมไปถึงฝึกการมองเห็น Painpoint ด้วยความคิด Creative และ Critical Thinking เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
นอกจากนั้น ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ “เทรนด์ มาตรการ และนโยบายทางกฎหมายของ ChatGPT และ AI” โดย “นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์” ผู้ช่วยประธานและหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สภาดิจิทัลฯ และ “ดร.ณวัฒน์ คำนูณวัฒน์” ผู้ดูแลพันธกิจการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค สภาดิจิทัลฯ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์และการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ ที่เกี่ยวข้องกับ Generative AI ตลอดจนนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำ Generative AI ไปประยุกต์ใช้ได้ให้เกิดประโยชน์ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
รับชมเสวนาออนไลน์ "โอกาสทางธุรกิจและการทำงาน ด้วยศักยภาพ chatGPT" ย้อนหลัง >> คลิก