“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566) ขับเคลื่อนกลไกการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่-กลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มุ่งพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
วันพุธที่ 19 เมษายน 2566 “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของภูมิภาค ร่วมกับคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ จัดการประชุมออนไลน์ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566) โดยสภาดิจิทัลฯ จะดำเนินการรวบรวมความคิดเห็นนำส่งต่อ กสทช. และติดตามการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการออกประกาศที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปและเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศต่อไป
การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566) ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ความหมายของบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน 2) ความเหมาะสมของของการกำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้ แผน USO ฉบับที่ 4 3) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO และ 4) การใช้จ่ายเงินตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด
ทั้งนี้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ในการกำหนดแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ หน่วยบริการประชาชนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม