ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมหารือ “การพัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนระบบใหม่ของอาจารย์ผู้สอน” ปั้น ‘อาชีวศึกษาไทย’ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
20 มิ.ย. 2566

วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล พร้อมด้วย “ดร.นิติ นาชิต” ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา “ดร.อนันต์ วรธิติพงศ์” ประธานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ร่วมด้วย สมาชิกและพันธมิตรในธุรกิจกลุ่ม IoT, Games, Animation, Digital Content, e-Learning และ Electronics ร่วมประชุมหารือในรูปแบบ Hybrid เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวการปรับการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนระบบใหม่ของอาจารย์ผู้สอนร่วมกับกลุ่มอาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่มีพื้นฐานและทักษะตรงตามความต้องการ อันนำไปสู่การยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


“นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ทางสถาบันการศึกษา อาชีวศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ได้มาร่วมหารือ แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเป็นแนวทางในการปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดรับกับอาชีพด้านเทคโนโลยี ซึ่งทางสภาดิจิทัลฯ ได้มีความร่วมมือกับอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคี เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู รวมถึงน้องๆ นักศึกษา เพื่อตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมและอาชีพในอนาคต 


การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกำลังคนด้านดิจิทัล และส่งผลให้บริบทด้านอาชีวศึกษาไทยมีความก้าวหน้าด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และหวังว่าหลังจากนี้ จะมีโมเดลการปรับหลักสูตรในสาขาอาชีพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาไทยให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลกล่าว


“ดร.นิติ นาชิต” ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสภาดิจิทัลฯ ที่เชิญทางคณะกรรมการการอาชีวศึกษามาร่วมรับฟังแนวคิดและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชาวอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของอาชีวะได้เรียนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ในสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ศิลปกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน เป็นต้น โดยทำหน้าที่รับฟังผู้ประกอบการถึงการเปลี่ยนแปลงวิทยาการต่างๆ และนำมาเชื่อมโยงกับทางศูนย์ ในขณะเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา นำไปสู่การขับเคลื่อนในการพัฒนาหลักสูตรที่มีการสอดรับกับอาชีพทางดิจิทัล นอกจากนั้น ยังมีมิติของการเติมเต็มทุกสาขา เพื่อให้เด็กอาชีวะมีความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพดิจิทัลอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นในการประชุม ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ เช่น 


1)  การสร้างรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรเชื่อมโยงและตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุด 


2)  การนำข้อมูลความเหมือนและความแตกต่างของหลักสูตร ไปประกอบการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 103 สาขาวิชา เพื่อประกาศใช้ในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2567 


3)  การจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมี Soft Skill ที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 


4)  การพัฒนาครูเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากครูเป็นสอนให้เด็กสามารถพัฒนาต่อยอดความรู้ นำไปสู่การสร้างศักยภาพที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทย 


5)  เครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) 


6)  รูปแบบ Learning Package โดยการนำภาคธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในอาชีพมาร่วมสอน 


7)  ส่งเสริมภารกิจ Intelligence Center ในส่วนของ Digital Content โดยการสร้าง E-Learning โดยจัดทำเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ เป็นต้น


สำหรับ งานประชุมหารือเกี่ยวการปรับการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนระบบใหม่ของอาจารย์ผู้สอนร่วมกับกลุ่มอาชีวศึกษา มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วย สมาคมไทยไอโอที สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท G GRATITUDE จำกัด บริษัท The Monk Studios รวมถึงคณะผู้บริหารจากสถาบันในสังกัดกรมอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ