ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 - 2568) ขับเคลื่อนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
10 ก.ค. 2566

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” จัดประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 - 2568)” โดยมีประเด็นรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย 1) วัตถุประสงค์ของแผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 - 2568) 2) ยุทธศาสตร์ และกลุ่มเป้าหมายภายใต้แผนฯ และ 3) ประเด็นอื่น ๆ หรือข้อเสนอแนะ โดยสภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงรวมถึงการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานและบริการเพื่อสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อยคนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์


ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ มีการแสดงความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 - 2568)” ในประเด็นต่างๆ เช่น

  • การส่งเสริม Digital Platform โดยเห็นด้วยกับการเสริมอินเทอร์เน็ตไปยังท้องถิ่นและชุมชนให้มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะให้องค์ความรู้สามารถกระจายอย่างทั่วถึงในเรื่องการเรียนรู้ด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น สาธารณสุข การเกษตร การประมง และผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น โดยให้ความสำคัญไปที่เนื้อหา(Content)ที่มีภาคเอกชนช่วยเสริมในส่วนของDigital Content เช่น ละคร ภาพยนตร์ อะนิเมชันและ เกมส์ อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด 
  • การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง
  • การส่งเสริมให้ภาครัฐมี Commercial Part ในรูปแบบ Online Marketing เพื่อช่วยเสริมการเรียนรู้สำหรับชุมชน ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน นำไปสู่การต่อยอด Digital Content อย่างยั่งยืน
  • การเพิ่มข้อมูลในส่วนของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนา USO Net ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเพิ่มเติมรูปแบบและความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดความชัดเจน นำไปสู่การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เป้าหมายควรมีความชัดเจน และวัดผลได้มากกว่า ที่ระบุไว้ในปัจจุบัน โดยผ่านขั้นตอนการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม
  • การส่งเสริมคุณภาพการผลิตเนื้อหา และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการนำเสนอสื่อ เนื่องจากสื่อที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น Soft Powerและการพัฒนาทักษะ เป็นต้น ต้องมีความน่าสนใจและดึงดูดผู้เข้าชม มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในเนื้อหาให้มากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 - 2568) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563 - 2568) ฉบับปรับปรุง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมและกำกับดูแล ด้านเนื้อหา การคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม รวมถึงการมีเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายในมิติทางสังคม