ข่าวสาร
“ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมปาฐกภาพิเศษหัวข้อ "โอกาส ความท้าทายและความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล" ในงานสัมมนาทางวิชาการ “เศรษฐกิจดิจิทัล : โอกาส ความเสี่ยง และความสามารถในการแข่งขัน”
11 มี.ค. 2567

“ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมปาฐกภาพิเศษหัวข้อ "โอกาส ความท้าทายและความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล" ในงานสัมมนาทางวิชาการ “เศรษฐกิจดิจิทัล : โอกาส ความเสี่ยง และความสามารถในการแข่งขัน” แนะเร่งพัฒนา “คน” สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล 


เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกภาพิเศษหัวข้อ "โอกาส ความท้าทายและความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล" ในงานสัมมนาทางวิชาการ “เศรษฐกิจดิจิทัล : โอกาส ความเสี่ยง และความสามารถในการแข่งขัน” ซึ่งจัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีอาวุโสสายงานวิชาการและงานวิจัย กล่าวเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมนำเสนอบทวิเคราะห์ เรื่อง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Generative AI และ Quantum Computing โดยมีนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กว่า 200 คนเข้าร่วมรับฟัง 


ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ ฉายภาพการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัลโดย  IMD ปี 2023 ว่าถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของไทย ที่มีการยกระดับอย่างก้าวกระโดด เป็นอันดับที่ 35 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยมี 3 ปัจจัยที่ IMD มีการประเมินและวัดผล ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) เทคโนโลยี (Technology) และ ความพร้อมที่จะเผชิญกับอนาคต (Future Readiness) โดยสภาดิจิทัลฯ เข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนอันดับความสามารถดิจิทัลไทยดีขึ้น โดยหากไทยมีความพร้อมในเรื่องคนและอนาคต จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ 


ดร.วีระ กล่าวถึงโอกาสที่จะเสริมสร้างความพร้อมให้ไทยมีจุดแข็งในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยการเข้าถึงแหล่งความรู้และโอกาส รวมถึงความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ E-Commerce เติบโตสูงขึ้น เห็นได้จากเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยมีการซื้อขายออนไลน์มูลค่าถึง 7 แสนล้านบาท และมีการทำ e-Payment เป็นอันดับ 5 ของโลก ถือเป็นโครงสร้างสำคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนั้น การจัดอันดับ IMD ยังสะท้อนถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของไทย ได้แก่ ด้านการลงทุนในเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นอันดับที่ 5 ด้านความแข็งแกร่งของตลาดหลักทรัพย์เป็นอันที่ 12 ด้านการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นอันดับที่ 11 และการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 13 ของโลก บ่งชี้ว่าไทยมีความพร้อมในการแข่งขันในเวทีโลก 


“ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อความท้าทายในเรื่องการพัฒนาทักษะและกำลังคนดิจิทัล รวมถึงการผลิตบุคลากรด้าน STEM ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความรู้พื้นฐานในการต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ใช้ โดยต้องปรับให้มีหลักสูตร Programming ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทั้งนี้ ยังมีเรื่องของการลดช่องว่างด้านภาษาและดิจิทัล โดยหากมีการพัฒนาบุคลากรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ จะช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ” 


รองประธานสภาดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเน้นให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องของการศึกษาตั้งแต่เด็กจนถึงระดับปริญญา และเห็นว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกันในทุกระดับ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน  


ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Generative AI และ Quantum computing ว่ามีความสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยอย่างก้าวกระโดด ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น นำมาสู่โอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ๆ  


“ขณะเดียวกันต้องเสริมความพร้อมทักษะแรงงานที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบทำให้บางตำแหน่งงานหายไป และมีตำแหน่งงานใหม่เข้ามา ดังนั้น ภาครัฐและภาคสังคม จึงต้องร่วมกันเตรียมการรองรับผลกระทบในส่วนนี้ด้วย” 


ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสภาดิจิทัลฯ มีบทบาทสำคัญในการเป็นองค์กรที่จะช่วยทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันดิจิทัล อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความพร้อมที่จะได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจโดยรวมของโลกรวมทั้งไทยขับเคลื่อนสู่ดิจิทัลไปด้วยกัน 


สำหรับ งานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัล : โอกาส ความเสี่ยง และความสามารถในการแข่งขัน จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของคณาจารย์ในคณะ สู่สาธารณชน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและธุรกิจจากผู้มีประสบการณ์และความรู้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล