กรุงเทพฯ : 1 กรกฎาคม 2567 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ)” โดย “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วย “ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” โดย “รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์” รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)” โดย “รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมี “ดร.วศิมน พาณิชพัฒนกุล” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ “นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์” ผู้ช่วยประธานและหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สภาดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสุทธิ ถนนเพชรบุรี
“ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคประชาชน มีหน้าที่ในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงร่วมมือกับ สกสว. และ บพข. ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืน
“ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับผู้ประกอบการดิจิทัลและประชาชนไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สภาดิจิทัลฯ จึงมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลักดันงานวิจัยสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จะช่วยเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ เพิ่มความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลภายในประเทศ ซึ่งล้วนส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก
“รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์” รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในด้านการจัดทำนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำกรอบวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 นอกจากนี้ยังสนับสนุนระบบและกลไกการนำผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมของประเทศ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ
“รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย และการสนับสนุนทุนวิจัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ บพข. จะร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ในการกำหนดกรอบวิจัย งบประมาณวิจัย รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ครอบคลุมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลงานวิจัยแบบบูรณาการในการส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันด้านดิจิทัล ก่อให้เกิด Digital Transformation นำไปสู่การลงทุนและยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในงานมีเสวนาในหัวข้อ “งานวิจัยไทยสู่เชิงพาณิชย์ Lesson Learning ที่ท้าทาย” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ “รศ.วิรุฬ ศรีบริรักษ์” รองคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์และการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย และ “นางผาณิต เผ่าพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พอยท์ ไอที คอนซัลทิ่ง จำกัด พร้อมทั้ง “ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต” ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. ผู้ดำเนินรายการ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้เพื่อต่อยอดงานวิจัยไทยให้เกิดมูลค่า สามารถนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนำงานวิจัยไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีให้นักวิจัยชั้นนำจากมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน มาร่วมนำเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่
1. โครงการระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพ โดย ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ ม.มหิดล
2. โครงการการพัฒนาต่อยอด Smart Breath และ BreatheMAX เพื่อรองรับเทคโนโลยี Digital Twin สำหรับการบริการทางการแพทย์ โดย รศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ ม.สงขลานครินทร์
3. โครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ทำนายการเคลื่อนไหวในชุดพยุงหลังและเสริมแรง โดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ สวทช.
4. AgentiveX: Large-Scale Multi-Agent Simulation โดย ดร.ถิรภาพ ฟักทอง จาก บริษัท Tetragram จำกัด
5. Smart Financial Infrastructure for Business โดย คุณอภิรักษ์ เชียงเจริญ จาก สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
6. Smart management of birds to reduce crop damage and contribute to global food security โดย Dr. Saurabh Katiyar จาก CP Research and Development
7. แพลตฟอร์มกลางระบบตรวจสอบย้อนกลับสมุนไพรไทย โดยคุณสุเมธ เตชาพิสุทธิ์
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของงานวิจัยไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการผนึกกำลังขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรมดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ สู่เป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคและระดับโลก