วันพฤหัสที่ 20 มิถุนายน 2567 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)” โดย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานด้านสตรีและเด็ก จัดงานเวิร์กช็อปแบบออนไลน์ในหัวข้อ "แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านสตรีและเด็กในยุคดิจิทัล" เพื่อร่วมกันหาแนวทางสร้างโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัลของสตรีและเด็กครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน รวมถึงส่งเสริมบทบาทสตรีในฐานะผู้นำทางดิจิทัล
“ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสภาดิจิทัลฯ ในการจัดทำแผนติดตามและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเพศ เพื่อลดช่องว่าง ส่งเสริมโอกาส และสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
“การนำนโยบายสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ โดยแนวทางของ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี การศึกษา และโอกาสทางดิจิทัลสำหรับสตรีและเด็กหญิง รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN (สหประชาชาติ) มุ่งบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ เสริมสร้างพลังให้สตรีและเด็กหญิง และสร้างสังคมที่ยั่งยืน”
“นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ แสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับสตรีและเด็กในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะประเด็นการคุกคามทางออนไลน์ในเด็กและเยาวชน และการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษา พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไข โดยการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในด้านภัยออนไลน์สำหรับสตรีและเด็ก
“นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับเด็ก ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กใช้ PC/Tablet สำหรับการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นายนนทวัตต์ สาระมาน” กรรมการสภาดิจิทัลฯ แสดงความกังวลต่อปัญหาแอปพลิเคชันอันตรายที่มุ่งเป้าไปที่สตรี โดยเฉพาะแอปหาคู่ที่แฝงการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีข้อเสนอแนะในการปกป้องสตรีและเด็กจากภัยออนไลน์ ได้แก่ 1) จัดทำ White list สำหรับแอปพลิเคชัน 2) การให้ความรู้แก่สตรีและเด็กจากภัยออนไลน์ 3) ส่งเสริมการใช้ Software กลั่นกรองข้อมูล และ 4) ซิมการ์ดสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตที่อันตราย
สำหรับงานเวิร์กช็อปในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสตรีและเด็กในยุคดิจิทัล ตลอดจนร่วมกันให้ข้อเสนอแนะอันเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายในการสร้างโอกาสการเข้าถึงทางดิจิทัลอย่างเท่าเทียมสำหรับสตรีและเด็กอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป