ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” ร่วมเป็นสักขีพยาน MOU ‬โครงการพัฒนาการจัดร่วมผลิตบัณฑิต‬และจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Co-Operative Education or‬ Work Integrated Learning : WIL)‬
18 ก.ค. 2567

18 กรกฎาคม 2567 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท‬” ประธานสภาดิจิทัลฯ และ ‬“คุณเขมนรินทร์ ‬รัตนาอัมพวัลย์”‬ รองประธานและประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล พร้อมด้วย “สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)” โดย “ดร.มานิต บุญประเสริฐ” ผู้อำนวยการ สสอท. ร่วมเป็นสักขีพยานใน งานลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ทางวิชาการ‬โครงการพัฒนาการจัดร่วมผลิตบัณฑิต‬และจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน‬ (Co-Operative Education or‬ Work Integrated Learning : WIL)‬ ภายใต้ความร่วมมือสภาดิจิทัลฯ (DCT)‬ และ สสอท. ณ ห้องประชุมใหญ่ สภาดิจิทัลฯ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬


“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมา รูปสุวรรณกุล” รองอธิการบดีอาวุโส มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยการจัดโครงการพัฒนาจัดร่วมผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Co-Operative Education or Work Integrated Learning : WIL) กับ “คุณธัญดา นันทพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี แกรททิจูด จำกัด, “คุณธนพล ต่อสิทธิเดชกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสซิเนส คอมเพ็ดทิทีฟ อินเทลลิเจนซ์, “คุณวณิชณันท์ รัตนกุลนาคี” CEO-Founder DUDEVA Thailand Co.,Ltd, “คุณสมหมาย กรังพานิช” กรรมการที่ปรึกษา บริษัท พี เอ็น พี โซลูชั่น จำกัด, “คุณพันธกานต์ ทวีพูน” Marketing Manager บริษัท ไอคอน โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็น 5 สถานประกอบการชั้นนำ ที่ร่วมกันเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้เข้าทำงานกับสถานประกอบการระหว่างกำลังศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัลที่มีทักษะตรงกับความต้องการและมีจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และทำงานจริงควบคู่กันไป ผ่านการเรียนที่มหาวิทยาลัย 1.5 ปี และทำงานที่สถานประกอบการ 2.5 ปี พร้อมมีรายได้เสริมระหว่างเรียน และสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันทีก่อนสำเร็จการศึกษา


“ม.ร.ว นงคราญ ชมพูนุท”  ประธานสภาดิจิทัล‬ฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล และได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริง อีกทั้งได้สร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และประเทศชาติโดยรวม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย


“คุณเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในโลกปัจจุบันและความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Developer, Network Enngineer, Data Science, Ai, Machine Learning Engineer และ Cyber Security Engineer เป็นต้น


“ความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ สสอท. และภาคเอกชนในการเชื่อมโยงภาคการศึกษาเข้ากับภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก” คุณเขมนรินทร์ กล่าว


“ดร.มานิต บุญประเสริฐ” ผู้อำนวยการ สสอท. กล่าวว่า สสอท. ร่วมกับสภาดิจิทัลฯ ผลักดันกำลังคนดิจิทัล โดยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีหลักสูตรหลากหลายให้เลือกเรียน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ นอกจากนั้น ยังมีนโยบายสนับสนุนการผลิตบัณฑิตให้มีทักษะการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ นอกห้องเรียน และสามารถทำงานได้จริง อันเป็นการเตรียมพร้อมศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ


“ผศ.ดร.ปัทมา รูปสุวรรณกุล” รองอธิการบดีอาวุโสมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มีความมุ่งหวังให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และร่วมพัฒนาประเทศ โดยการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทั้ง 5 แห่ง จะช่วยให้บุคลากรได้รับองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็น Digital Workforce ที่มีคุณภาพ ช่วยให้บุคลากรได้รับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน นำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น‬‬‬


ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจากบริษัทชั้นนำทั้ง 5 แห่งมาร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ผนึกกําลังมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนสู่การผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการ” ถึงบทบาทของภาคการศึกษา แนวทางความร่วมมือของภาคเอกชน รวมทั้งโอกาสสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนความคาดหวังและประโยชน์ที่คาดว่านักศึกษาและอุตสาหกรรมจะได้รับจากโครงการ