ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ “ร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย ระยะ 5 ปี” ชูความร่วมมือรัฐ-เอกชน ผลักดันการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
4 พ.ย. 2567

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 - “คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ร่วมกันประชุมออนไลน์ หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย ระยะ 5 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาข้อมูลของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการบริการประชาชน การส่งเสริมเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ 


ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ และนำเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


สำหรับ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาทางด้านข้อมูลอย่างตรงจุด ยกระดับการให้บริการประชาชน และสร้างมูลค่าต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่   

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับการให้บริการทางด้านข้อมูลภาครัฐ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐและการเชื่อมโยงข้อมูล 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะทางด้านข้อมูลให้กับบุคลากรในภาครัฐและเอกชน


ภายในที่ประชุม คณะกรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ ได้เสนอความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เช่น 

1) การบูรณาการข้อมูลระดับท้องถิ่น : พิจารณาแนวทางในการเพิ่มข้อมูลเชิงพื้นที่ (Area Base) ในระดับเมือง ท้องถิ่น หรือ เทศบาลเพื่อให้เกิดการวางแผนและบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่

2) การเปิดเผยข้อมูลภาคเอกชน : การเพิ่มเติมรายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอย่างชัดเจน จากการเปิดเผยข้อมูลของภาคเอกชน 

3) การนำข้อมูลของภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์ : ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญและประโยชน์ของการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ เช่น การพัฒนาประเทศและส่งเสริมธุรกิจ

4) ความชัดเจนของแผนปฏิบัติการ : ภาพรวมยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ 

5) การพิจารณาภาพรวมแผนปฏิบัติการ : ควรมุ่งเน้นไปที่ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันสร้างข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น

6) การกำหนดระดับของแรงจูงใจที่ชัดเจน (Level of Incentive) : ควรมีการกำหนดหลายขั้น มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดช่องโหว่ให้ภาคเอกชนให้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมแก่ภาครัฐ

7) การจัดตั้งหน่วยงานกลาง : มีข้อเสนอแนะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น


การประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลในการขับเคลื่อนประเทศ และความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมมือกันพัฒนาระบบข้อมูลของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน