ข่าวสาร
รองนายกฯ ประเสริฐ มอบหมายคณะทำงาน หารือร่วมกับ สภาดิจิทัลฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันไทยสู่ Digital Hub ในอาเซียน
12 พ.ย. 2567

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุม 4401 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ - คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) นำโดย ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วย รองประธานสภาดิจิทัลฯ ดร.วีระ วีระกุล นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ และ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) โดยมี นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุม เพื่อนำเสนอความคืบหน้าและหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล 


ตามที่สภาดิจิทัลฯ ได้มีการหารือร่วมกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม


ในการประชุมครั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล สอดรับนโยบายภาครัฐ "Growth Engine of Thailand" โดยมุ่งเน้น 7 ด้านหลัก ได้แก่


1) สตาร์ตอัป (Startup): การส่งเสริมสตาร์ตอัปตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early-Stage Startup) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การเข้าถึงแหล่งทุน และลดข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ตอัปไทย

2) วิจัยและพัฒนา (R&D): การส่งเสริม R&D ด้าน Digital และ AI ด้วยการสร้าง Innovation Cluster เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น Medtech Foodtech และ Agritech เป็นต้น

3) โครงสร้างพื้นฐานและดึงดูดการลงทุน (Infrastructure & Investment): การผลักดันนโยบายอธิปไตยด้าน AI ควบคู่ไปกับนโยบายดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่มูลค่า (VALUE CHAIN) ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4) กำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce): การพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย

5) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy): การสนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจ และ การบูรณาการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6) ดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Digital Sustainability): มุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้พิการ การลดอาชญากรรมไซเบอร์และป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม

7) วัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture): สนับสนุนการผลิต Ethical Content และพัฒนาแพลตฟอร์มเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในเวทีโลก


ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และจะมีการประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งต่อไป


การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน สภาดิจิทัลฯ มุ่งมั่นที่จะบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค