ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์ ถกข้อคิดเห็นต่อ ร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกแบ่งปันข้อมูลฯ มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
25 เม.ย. 2568

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) จัดประชุมออนไลน์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกรรมการและสมาชิกต่อ "ร่างหลักการกฎหมายว่าด้วยระบบอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงวิเคราะห์ (Data Sharing Facilitation for Analytics Act)" เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลของประเทศไปใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 


ร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งเสริมการประมวลผลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาและข้อกังวลที่สำคัญจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐเผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายที่ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล ขณะที่ภาคเอกชนประสบข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ซึ่งมักได้รับเพียงข้อมูลสถิติที่ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์เชิงลึก และเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูลดิบ (Raw Data) มากยิ่งขึ้น


ภายในการประชุม ได้มีการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1) ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการแบ่งปันข้อมูลในประเทศไทย 2) ความกังวลของภาคเอกชนต่อการแบ่งปันข้อมูล 3) ประเด็นสำคัญที่ควรบรรจุในกฎหมายการแบ่งปันข้อมูล 4) อุปสรรคของหน่วยงานรัฐในการแบ่งปันข้อมูล และ 5) ความเหมาะสมของร่างหลักการของกฎหมายฉบับนี้


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะข้อคิดเห็น ได้แก่ 1) กฎหมายใหม่ไม่ควรสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลรัฐที่ปัจจุบันก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว 2) ควรมีการจำแนกหมวดหมู่ข้อมูลให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเป็นระบบ 3) ควรกำหนดระยะเวลาการส่งมอบข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความล่าช้า 4) ข้อมูลทั่วไปจากระบบควรเป็นบริการสาธารณะและเปิดให้เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าธรรมเนียมเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการดูแลระบบ และรัฐไม่ควรแสวงหากำไรจากข้อมูลเปิด (OPEN DATA) 5) การแบ่งปันข้อมูลจากภาคเอกชนต้องไม่สร้างภาระ กระทบต่อธุรกิจหรือความเป็นส่วนตัว และต้องได้รับความยินยอมจากภาคเอกชนก่อนเสมอ และ 6) เสนอให้เพิ่ม “สิทธิที่จะถูกลืม” (RIGHT TO BE FORGETTEN) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถขอลบข้อมูลได้ตามแนวปฏิบัติสากล


สภาดิจิทัลฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อนำส่งให้กับสถาบัน BDI เพื่อประกอบการพิจารณาและปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความครอบคลุม สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการแบ่งปันข้อมูลของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง และผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป