news
สภาดิจิทัลฯ ผนึก เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยฯ จัดงาน Stop Cyberbullying Day 2025 ขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลปลอดภัยในยุค AI
20 Jun 2025
20 มิถุนายน 2568 - สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทยกว่า 30 องค์กร อาทิ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และ ทรูดิจิทัลพาร์ค เป็นต้น เพื่อแสดงสัญลักษณ์ ประกาศเจตนารมณ์ ในงาน Stop Cyberbullying Day 2025 วันหยุดไซเบอร์บูลลี่สากล 2568 ภายใต้แนวคิด เคารพกันทั้งบนจอและต่อหน้า พร้อมชวนศิลปินชื่อดัง เป๊ก ผลิตโชค เข้าร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักและเท่าทันภัยในวงกว้าง ณ Grand Hall True Digital Park (West)ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ทวีความรุนแรงขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเน้นย้ำว่ากลุ่มเด็กไทยที่ถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และเผชิญกับการกลั่นแกล้งหลายรูปแบบ เช่น การส่งรูป คลิปวิดีโอ หรือข้อความที่สร้างความอับอาย การโพสต์ข้อมูลส่วนตัว และการข่มขู่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและผลกระทบอันรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น กิจกรรมในวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์และขับเคลื่อนแนวทางป้องกันภัยคุกคามออนไลน์เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนรองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกว่า 30 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีสภาดิจิทัลฯ และทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นภาคีเครือข่ายหลักที่ร่วมกันผลักดันให้งานมีความเข้มแข็งและขยายผลในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และพร้อมใจกันร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นระบบนายลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ไซเบอร์บูลลี่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ดังนั้น เป้าหมายหลักของสภาดิจิทัลฯ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยป้องกันปัญหานี้ โดยเครือข่ายของสภาดิจิทัลฯ ได้ให้การสนับสนุนในด้านซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะการใช้ AI ในการตรวจจับ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ เน้นย้ำว่าการป้องกันการกลั่นแกล้งทางออนไลน์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะบทบาทของผู้ปกครองที่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลและใส่ใจบุตรหลาน สอนให้เข้าใจถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วยความเคารพและเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีพื้นฐานทางความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม ลดโอกาสของการกลั่นแกล้งทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า การจัดงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ "Stop Cyberbullying Start Respect" ซึ่งมุ่งหยุดการกลั่นแกล้งโดยเริ่มจากการเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งบนโลกออนไลน์และต่อหน้า การยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน นายชัยประเสริฐศิริ ทองสนิท ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน S.O.S Thailand กล่าวถึงแอปพลิเคชัน S.O.S Thailand ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง ผู้ใช้งานสามารถเลือกรายการตัวอย่างของการกลั่นแกล้งในการขอความช่วยเหลือ ซึ่งความช่วยเหลือจะถูกส่งถึงเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วินาที ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งได้อย่างทันท่วงทีภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของไซเบอร์บูลลี่ เช่น การสัมมนา "Battle Discussion ถกจริง ชนจริง เรื่อง Cyberbullying" และฟังมุมมองจาก เป๊ก ผลิตโชค เกี่ยวกับการรับมือในสังคมที่มีแต่ Bully พิธีมอบรางวัล Mini Hackathon การแสดงดนตรีจากวงอภิวาท และนิทรรศการ Interactive "เปลี่ยนคำพูดแย่ ๆ ให้เป็นพลังดี ๆ" โดยกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยการเคารพซึ่งกันและกันวันหยุดไซเบอร์บูลลี่สากล ตรงกับทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยสภาดิจิทัลฯ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่เพิ่มความรุนแรงในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญ พร้อมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับทุกคน