report
Big Data Analytics และบทบาทในการรับมือวิกฤติการณ์ COVID-19: กรณีศึกษาจากไต้หวัน
24 Apr 2020

ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) เชื่อว่าหลายท่านคงจะคุ้นหูกับชื่อ “Audrey Tang” มากขึ้น เธอคือรัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics ในรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพจน “Taiwan’s Model” กลายเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลก โดย ณ วันที่ 16/04/2563 ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 395 คน ถึงแม้ว่าพรมแดนไต้หวันจะห่างกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดการระบาดของ COVID-19 เพียง 2,102 กิโลเมตร เท่านั้น และจากสถานการณ์การระบาดของ SARS ทั่วภูมิภาคเอเชียเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมาไต้หวันได้รับบทเรียนสำคัญผ่านการสูญเสียในอดีตอันนำไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด COVID-19 ครั้งนี้ได้อย่างมืออาชีพ

“Big Data” (ข้อมูลขนาดใหญ่) มีความแตกต่างจาก “Data” (ข้อมูลทั่วไป) ตรงที่ Big Data เป็นการรวบรวมเอาข้อมูลที่หลั่งไหลจำนวนมหาศาลทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมาวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยถูกขับเคลื่อนด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ Volume (ความสามารถในการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่) Velocity (ข้อมูลถูกรวบรวมด้วยความเร็วสูง) Variety (ความหลากหลายของประเภทข้อมูล) และ Veracity (ความหลากหลายของคุณภาพข้อมูล) คุณสมบัติเฉพาะตัวของเทคโนโลยี Big Data ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบ Real-time ช่วยให้ใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไม่สิ้นเปลือง รวมทั้งลดระยะเวลาในการประมวลผล จัดทำรายงานข้อมูล การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเริ่มต้นของ Big Data Analytics กับบทบาทการรับมือ COVID-19 ในไต้หวันเริ่มต้นมาจากบริษัท Metabiota ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้คำนวณในช่วงต้นของการระบาดว่าภายในอีก 1 สัปดาห์ เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายมาถึงเขตแดนไต้หวันอย่างแน่นอน จึงได้ส่งสัญญานไปยังภาครัฐให้ออกนโยบายดำเนินการสะกัดกั้นการแพร่ระบาด ภายใต้การนำหลักโดย Audrey Tang ภาครัฐได้ใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics ในการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ในระยะเริ่มแรกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เริ่มจากการตรวจสอบและควบคุมการหลั่งไหลเข้าออกพรมแดนไต้หวันของประชาชนและชาวต่างชาติ (Border control) อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่กลับเข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ในมาตรการนี้จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลประกันสังคมแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากร และสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีฐานข้อมูลในไต้หวัน มาตรการ “การรายงานข้อมูลสุขภาพออนไลน์” (Online Health Declaration) ถูกนำมาเป็นหลักปฏิบัติผ่านการสแกน QR Code ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวัน โดยผลลัพธ์ของการใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics ในระยะเริ่มแรกนี้ทำให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบและจำแนกได้ว่าบุคคลใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยหรือมีความเสี่ยงมาก จากนั้นหน่วยงานสาธารณสุขจะดำเนินการติดต่อกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เช่น Self-Quarantine หรือ Self-Isolation ในลำดับถัดไป

​ในระยะถัดมาเมื่อได้ทราบกลุ่มเสี่ยงจากระยะเริ่มต้นแล้ว ภาครัฐได้ขอความร่วมมือจาก Telecommunication Operators ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านระบบระบุตำแหน่ง (Location Tracking) จากเครื่องมือสื่อสารของบุคคลนั้นๆ เพื่อจับตาดูว่าบุคคลกลุ่มนี้ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดหรือไม่ ซึ่งฐานข้อมูลระบุตำแหน่งกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อยังถูกนำมาสร้างเป็น Application ในลักษณะแผนที่แบบ Real Time อีกด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่ควรหลีกเลี่ยง

นอกจากนี้เทคโนโลยี Big Data Analytics ยังถูกนำมาใช้เพื่อการสังเกตการณ์และคาดการณ์เกี่ยวกับสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะขาดตลาดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อาทิ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และกระดาษชำระ เป็นต้น โดยภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากโรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านี้รวมถึงห้างร้านทั่วไปในการแจ้งข้อมูลการผลิตและคลังสินค้า เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าสำคัญเหล่านี้จะไม่ขาดตลาด โดยประชาชนยังสามารถทราบสถานะของสินค้าเหล่านี้ผ่าน Application ว่าห้างร้านใดยังีสินค้าเหล่านี้เหลืออยู่ เพื่อให้แต่ละครัวเรือนยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่ขาดแคลนสินค้าจำเป็นเพื่อความปลอดภัยในช่วงวิกฤติการณ์ COVID-19

จากกรณีศึกษาของประเทศไต้หวันในการใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้เราเห็นว่าความเป็นเอกภาพของรัฐเมื่อถูกผนวกด้วยก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนั้นสามารถนำไปสู่การจัดการปัญหาได้อย่างชาญฉลาด และนอกจากนี้เรายังไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า “Data is the New Oil” อย่างแท้จริง 

download report
ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) เชื่อว่าหลายท่านคงจะคุ้นหูกับชื่อ “Audrey Tang” มากขึ้น เธอคือรัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้เทคโนโลยี Big Data Analytics ในรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
download