news
สภาดิจิทัลฯ ย้ำจุดยืน ดันอุตสาหกรรมดิจิทัล ชู 3 แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สอดรับนโยบาย Ignite Thailand มุ่งสู่เป้าหมาย Digital Economy Hub
31 May 2024

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2567, อาคารสุทธิ ชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ - สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย “ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ประชุมหารือร่วมกับ คณะทำงานเฉพาะกิจ Digital Economy Thailand สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดย “นางปฐมา จันทรักษ์” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) สอดรับนโยบาย Ignite Thailand 


นายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ตั้งเป้าประเทศไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ผ่าน 8 วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า โดยหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญ คือ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ ในการผลักดันการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค  


สภาดิจิทัลฯ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อนำพาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นย้ำให้นิยามของ Digital Economy Hub ต้องให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยแลกเปลี่ยนมุมมองใน 3 แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ดังนี้


1) ด้านสตาร์ตอัปและนวัตกรรม (Startup & Innovation) ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตาร์ตอัปประมาณ 2,100 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Go-To Market โดยอุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงเงินทุนที่จำกัด และขาดการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ตอัปใหม่ๆ ส่งผลให้การลงทุนในสตาร์ตอัปไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การลงทุนในสตาร์ตอัปไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อสภาดิจิทัลฯ บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ผลักดันการออกกฎหมายยกเว้น Capital Gains Tax สภาดิจิทัลฯ จึงมุ่งผลักดันมาตรการดึงดูดการลงทุนและ Tech Talent รวมถึงส่งเสริม Matching Fund ที่เอื้อต่อการลงทุนในสตาร์ตอัป ตลอดจนการสร้างศูนย์นวัตกรรมเฉพาะด้าน เช่น HealthTech และ AgriTech เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในการเป็นผู้สร้างและผู้พัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย 


2) ด้านกำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลประจำปี 2566 (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023) พบว่า ไทยมีจุดอ่อนด้านกำลังคนดิจิทัล สะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนแรงงานทักษะดิจิทัล ส่งผลให้ภาคเอกชนในสัดส่วนที่สูงถึง 27.7% ต้องจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบาย Thailand Plus Package ที่สามารถ Upskill บุคลากรได้ถึง 55,130 คนในระยะเวลา 2 ปี ประเทศไทยก็ยังต้องการการ Upskill บุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมาตรการ Incentive จากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการ Upskill/Reskill การปรับปรุงหลักสูตรบังคับวิชาวิทยาการคำนวณ ทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมศึกษา การจัดสรรให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์พร้อม Filtering Software ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะให้นักเรียน รวมถึงการพัฒนาครูผู้สอนจึงเป็นการดำเนินการที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปิดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานดิจิทัล และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 


3) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ข้อมูลจาก สดช. ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มาจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) สูงถึง 12% ติดอันดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยยังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้า โดยเฉพาะในกลุ่ม ซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัลคอนเทนต์  โดยปี 2565 ไทยขาดดุลซอฟต์แวร์ 47,114 ล้านบาท และ ดิจิทัลคอนเทนต์ 31,871 ล้านบาท ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ จึงมุ่งผลักดันนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลไทย เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีและเงินสนับสนุน Digital Transformation ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากผู้ประกอบการดิจิทัลไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 โดยการเชื่อมโยงและเสริมสร้างระบบนิเวศดิจิทัลในทุกด้านนี้ จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและดิจิทัลของภูมิภาคในอนาคต 


สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เน้นย้ำจุดยืน พร้อมมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายตามพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ และร่วมกับภาครัฐ นำพาประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 


โดยในการประชุม มีความเห็นตรงกันที่สภาดิจิทัลฯ จะเข้ามาร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจ Digital Economy Thailand เพื่อให้แผนดำเนินการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Economy Thailand มีความชัดเจน ขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างสำเร็จ