news
“สภาดิจิทัลฯ” จัดงานประชุมสามัญประจําปี มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทย พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรยกระดับศักยภาพประเทศ
28 Apr 2025

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)” นำโดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วย ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ ได้แก่ “ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” “ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” และ “พล.อ.อ. นพ.อิทธพร คณะเจริญ” รวมถึง รองประธาน คณะกรรมการ สมาชิก และ องค์กรพันธมิตร เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงและครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 3 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ กรุงเทพฯ 


วาระสำคัญของการประชุม รวมถึงสถานภาพเศรษฐกิจและผลผลิตด้านดิจิทัลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสากล การรายงานผลงาน ประจำปี 2567 และแผนการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสภาดิจิทัลฯ ในการเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ ฉายภาพความท้าทายระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึง 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล (Digitalization), ความขัดแย้งทางการเมืองโลก (Deglobalization) และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Decarbonization) พร้อมทั้ง ความเสี่ยงจากผลกระทบของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่อาจนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นายศุภชัย มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI มีศักยภาพในการช่วยรับมือและแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย


นายศุภชัย กล่าวถึง 4 เสาหลัก (4 Ts) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1) การท่องเที่ยว (Tourism) เป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 2) เกษตรและอาหาร (Farm to Table) ต้องได้รับการยกระดับด้วยเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน 3) ประเทศแห่งการค้า (Trade Nation) ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้าน Logistic และ Digital Hub และ 4) ศูนย์กลางเทคโนโลยี (Tech Hub) เป็นโอกาสสำคัญจากการลงทุนใน Data Center และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV โดยเน้นย้ำว่า Tech Hub ที่แท้จริงนั้นต้องไม่ใช่เพียงแค่การเป็นฐานการผลิตและการลงทุน แต่ต้องดึงดูดการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีของประเทศในระยะยาว


ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร นายศุภชัย ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายด้านการศึกษาและทักษะดิจิทัลของคนไทย โดยยกตัวอย่างอันดับ PISA ที่ยังไม่สูงนัก พร้อมเสนอแนวทางการดึงดูด Foreign Talents และการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา Tech Startups และบุคลากรด้านเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ


ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวต้อนรับสมาชิกและรายงานผลการดำเนินงานของสภาฯ ในปีที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยสภาดิจิทัลฯ ยังได้ผลักดันนโยบายส่งเสริม Startup การยกระดับทักษะดิจิทัล และการดึงดูดการลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมในคณะทำงานภาครัฐที่สำคัญ เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ


ม.ร.ว. นงคราญ ประกาศถึงความร่วมมือครั้งสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ในโครงการ “THAI Academy ขับเคลื่อนอนาคต AI ประเทศไทย” ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการยกระดับทักษะด้าน AI ให้ครอบคลุมประชากรไทยกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมทั้งขอบคุณเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังร่วมมือกับสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) ในการส่งเสริมการฝึกฝนทักษะ AI ในวงกว้าง และ ร่วมเสวนาในงาน SMEs AI Skills Summit เพื่อให้ความรู้และแนวทางการสนับสนุน SMEs ไทยให้ก้าวทันเทคโนโลยี AI


ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มาร่วมนำเสนอกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร และแนวทางการดำเนินงานร่วมกับสภาดิจิทัลฯ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย


นายสถาพน พัฒนะคูหา กรรมการสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย กล่าวถึง Mission ของสมาคมฯ ในการเป็นผู้บุกเบิกสังคมโมเดลใหม่ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ด้านคือ กำลังคนดิจิทัล การเงิน และตลาดที่เข้าถึงได้ พร้อมทั้งเสนอแนวทางให้รัฐบาลสนับสนุน Startup ในช่วงเริ่มต้นมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเงินทุน (Matching Fund) และการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการส่งเสริม Deep Tech Startup เพื่อให้ประเทศไทยสามารถอยู่ใน Supply Chain ของโลกได้


ดร.ทัชนันท์ กังวานตระกูล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้าง AI Governance Model และการส่งเสริมจริยธรรมด้าน AI พร้อมทั้งเสนอความร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ในการจัดตั้งโครงการ AI Startup Incubator การให้ความรู้ด้าน AI และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุนข้อมูลสำหรับการพัฒนา AI


ม.ล. ลือศักดิ์ จักรพันธุ์ นายกสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเติบโตของการใช้ Open Source ทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงต้องการความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในทุกระดับ และขยายเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน Open Source ในประเทศไทย


นางมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัลสำหรับคนพิการ และการลงนามความร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ในการส่งเสริมการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เว็บไซต์และบริการดิจิทัลในประเทศไทยมีการออกแบบที่เป็นสากล และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกถ้วนหน้า


การประชุมสามัญประจำปีของสภาดิจิทัลฯ ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรกลางที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน พร้อมที่จะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันวาระดิจิทัลของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป